เมื่อกล่าวถึงระบบต่าง ๆ ภายในบ้าน เชื่อว่าเจ้าของบ้านมากกว่า 80 % จะคิดถึงระบบน้ำ ระบบไฟ ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคหลักที่ขาดไม่ได้ แต่หากพูดถึงระบบการจัดการขยะหรือของเสีย โดยเฉพาะขยะที่เป็นเศษอาหาร หลาย ๆ คนอาจคิดว่าไม่จำเป็น แค่ทิ้งลงในถังขยะ หรือกรองเศษอาหารตรงซิงค์ล้างจานก็เพียงพอแล้ว ยิ่งพูดถึง “ถังดักไขมัน” อาจมีคนไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยก็ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วถังดักไขมันเป็นอุปกรณ์เสริมที่มีประโยชน์มาก ไม่เฉพาะต่อบ้านเท่านั้นแต่ยังดีต่อสังคมส่วนรวมด้วย

ตาม KACHA ไปไขข้อข้องใจว่าทำไมบ้านควรมี ถังดักไขมัน และถังดักไขมันมีกี่แบบ? และวิธีบำรุงดูแลรักษา มีอะไรบ้าง?

ถังดักไขมันคืออะไร?

ถังดักไขมัน หรือ บ่อดักไขมัน คือ อุปกรณ์ที่ช่วยในการดักจับไขมันจากท่อน้ำทิ้งภายในบ้านทั้งหมด เพื่อแยกส่วนไขมันออกจากน้ำ ก่อนทำการปล่อยน้ำทิ้งลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ


ประเภทของถังดักไขมัน

สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ แบบตั้งพื้น (บนดิน) และแบบฝังดิน โดยการเลือกใช้ถังดักไขมันนั้น ควรทำการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะและพื้นที่ในการใช้งาน เช่น

1. แบบตั้งพื้น (บนดิน) 

เหมาะสำหรับการใช้งานที่มีพื้นที่ใช้สอยจำกัด เช่น ห้องพัก คอนโด หรือทาวน์โฮม เนื่องจากขนาดถังไม่กินพื้นที่มาก วิธีติดตั้งไม่ยุ่งยากเพียงแค่ต่อท่อระบายน้ำทิ้งจากอ่างล้างจานเข้ากับถังดักไขมัน แล้วติดตั้งท่อระบายน้ำของถังดักไขมันลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ ถังดักไขมันบนพื้นจะใช้งานสะดวก และดูแลได้ง่ายกว่า อาจจะติดตั้งใต้ซิงค์ล้างในครัว หรือต่อท่อออกมาติดตั้งข้างนอกก็ได้

210601-Content-ถังดักไขมันทำไมต้องมีถังดักไขมัน-เลือกใช้แบบไหนดี02


2. แบบฝังดิน

เหมาะสำหรับบ้านเดี่ยวที่มีพื้นที่การใช้งานกว้าง ๆ เพียงพอในการฝังถังดักไขมันไว้ใต้ดินบริเวณนอกตัวบ้าน เพราะขนาดถังค่อนข้างใหญ่ วิธีนี้ค่อนข้างยุ่งยากเพราะต้องขุดหลุมฝังถัง และต้องออกแบบระบบต่อท่อน้ำทิ้งกับซิงค์ในครัว และการวางแนวท่อออกไปนอกบ้านด้วย ทำให้การดูแลรักษายาก แต่จะดูเรียบร้อยกว่าแบบวางบนพื้น เหมาะสำหรับการใช้งานที่มีพื้นที่กว้าง และเพียงพอในการฝังถังดักไขมันไว้ใต้ดินบริเวณนอกตัวบ้าน เช่น บ้านเดี่ยว 1 ชั้น หรือ บ้านเดี่ยว 2 ชั้น


ส่วนประกอบของถังดักไขมัน

ถังดักไขมันจะประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลัก ๆ ที่ทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • ตะแกรงดักเศษอาหาร

ถือเป็นตัวกรอกอันดับต้น ๆ ที่ทำหน้าที่ในการดักจับเศษอาหารจากท่อน้ำเข้า โดยมีลักษณะเป็นตะแกรงที่มีรูขนาดเล็กเรียงตัวไปทั่วทั้งแผ่น เพื่อแยกเศษอาหารหรือสิ่งต่าง ๆ ไว้และระบายน้ำลงสู่ถังดักจับไขมัน

  • ช่องแยกไขมัน

ในส่วนนี้ เมื่อน้ำจากท่อน้ำทิ้งส่วนต่าง ๆ ภายในบ้านมารวมกันที่ถังดักไขมัน น้ำกับไขมันจะทำการแยกส่วนออกจากกันอย่างชัดเจน โดยน้ำจะแยกตัวอยู่ด้านล่าง ในขณะที่ชั้นไขมันจะลอยตัวอยู่เหนือน้ำ เนื่องจากมีน้ำหนักที่เบากว่า

  • ท่อระบายไขมัน

เป็นท่อที่ใช้ในการระบายไขมันที่ลอยตัวแยกออกมาจากน้ำ โดยจะถูกติดตั้งไว้ให้มีตำแหน่งสูงกว่าระดับท่อน้ำทิ้ง เพื่อให้ไขมันลอยตัวออกมาตามท่อระบายไขมันได้สะดวก

  • ท่อระบายน้ำทิ้ง

เป็นท่อน้ำทิ้ง ที่ใช้ระบายน้ำที่ผ่านการแยกไขมันออกจากน้ำเรียบร้อยแล้ว ลงสู่ท่อระบายน้ำทิ้งสาธารณะนอกตัวบ้าน

210601-Content-ถังดักไขมันทำไมต้องมีถังดักไขมัน-เลือกใช้แบบไหนดี03


ถังดักไขมันจำเป็นไหมที่ต้องมีทุกบ้าน?

จำเป็นไหมที่ต้องมีถังดักไขมันทุกบ้าน คำตอบ คือ จำเป็น เพราะน้ำเสียจากครัวจะปนเปื้อนไขมัน ซึ่งเป็นน้ำเสียอินทรีย์ที่บำบัดได้ยาก เนื่องจากการย่อยสลายไขมันโดยธรรมชาติ ต้องใช้เวลานานมาก จึงไม่ควรปล่อยทิ้งออกไปโดยไม่ผ่านถังดักไขมัน หลายคนอาจคิดว่า ถังดักไขมันต้องเป็นร้านอาหารขนาดใหญ่ แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกบ้านควรมีไว้ใช้ หรือต่อท่อออกมาฝังดินนอกบ้านก็ได้ เพราะนอกจากถังดักไขมัน จะช่วยดักกรองเศษอาหาร ลดกลิ่นไม่พึงประสงค์จากสิ่งหมักหมมแล้ว ยังเป็นการปรับคุณภาพน้ำทิ้งก่อนออกสู่ท่อน้ำทิ้งสาธารณะ ทำให้น้ำทิ้งที่ปล่อยออกมามีคุณภาพดีขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมด้วย

210601-Content-ถังดักไขมันทำไมต้องมีถังดักไขมัน-เลือกใช้แบบไหนดี04

โดยของเสียประเภทไขมัน หากปล่อยทิ้งสะสมประมาณ 1 เดือน จะจับตัวเป็นก้อนชั้นหนาคล้ายสบู่ แม้ว่าจะไม่แข็งตัวเท่าสบู่ แต่หากเกิน 10 เซนติเมตร จะมีผลทำให้น้ำไหลผ่านยากมาก


การเลือกขนาดถังดักไขมันให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน

การเลือกขนาดถังดักไขมันให้เหมาะสมกับลักษณะของการใช้งานเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากมีผลต่อการดูแลและบำรุงรักษา หากเลือกใช้ขนาดไม่เหมาะสมกับการใช้งาน อาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ ซึ่งถังดักไขมันมีให้เลือกใช้งานหลากหลายขนาดด้วยกัน ตั้งแต่ 15-140 ลิตร โดยมีเกณฑ์พิจารณาในการเลือกขนาด ดังนี้

  • สมาชิกภายในบ้าน 1-5 คน ควรเลือกใช้ขนาด 15 ลิตร
  • สมาชิกภายในบ้าน 6-10 คน ควรเลือกใช้ขนาด 30 ลิตร


วิธีการดูแลรักษาถังดักไขมัน

สำหรับวิธีการดูแลรักษาทำได้ไม่ยาก โดยตักเศษอาหารในตะแกรงไปทิ้งเป็นประจำทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ควรตักไขมันที่ลอยอยู่เหนือน้ำออกทุกสัปดาห์ และล้างถังดักไขมันปีละ 2 ครั้ง หรือทุก ๆ 6 เดือน เพื่อประสิทธิภาพการใช้งานที่ดี พร้อมกับช่วยลดกลิ่นเหม็นจากการเน่าเสียสะสมไปด้วยในตัว

การกำจัดไขมัน นอกจากจะทำการตักทิ้งแล้ว ยังสามารถนำไขมันที่ได้ มาทำเป็นปุ๋ยหมักไว้ใช้งานได้อีกด้วย โดยนำปุ๋ยหมักที่ได้ รดรอบโคนต้นไม้ หรือผสมกับดินก่อนทำการปลูกผัก


ได้รู้จักกับถังดักไขมัน บ่อดักไขมัน กันไปแล้ว เห็นได้ว่าไม่ได้เป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์เฉพาะภายในครัวเรือนเท่านั้น การดักไขมันที่ถูกต้องยังส่งผลแก่สาธารณะอีกด้วย หวังว่าบทความข้างต้น จะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับถังดักไขมันกันมากขึ้น และเลือกใช้อย่างถูกต้องกัน

>>สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย<<