การสร้างบ้าน หรืออาคารนั้น เรื่องของโครงสร้าง เป็นเรื่องที่สำคัญ ตั้งแต่หลังคาจนลงมาถึงพื้น ทุกส่วนประกอบล้วนมีหน้าที่ และมีความสำคัญไม่แพ้กัน ในเรื่องของพื้น แน่อนว่าหลายท่านย่อมให้ความสำคัญกับการเลือกกระเบื้องเป็นหลัก แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า มีสิ่งเล็ก ๆ อย่างหนึ่ง ที่เจ้าของบ้านหลายคนยังไม่รู้จัก หรืออาจจะยังไม่คุ้นเคย เป็นสิ่งสำคัญที่นอกจากจะให้เรื่องความสวยงามแล้ว ยังช่วยยืดอายุการใช้งานของพื้นบ้านได้อีกด้วย นั่นก็คือ “ยาแนว” นั่นเอง แล้วยาแนวที่ว่านี้ คืออะไร? มีกี่ประเภท? และใช้งานแบบไหนจึงจะเหมาะสม ตาม KACHA ไปดูกัน . . .


ยาแนว คืออะไร?

ยาแนว หรือ กาวยาแนว คือ ตัวช่วยสำคัญที่ทำหน้าที่คู่ไปกับในการปูกระเบื้อง ช่วยทำพื้นบ้าน หรืออาคารดูเรียบร้อย สะอาด ในปัจจุบันยาแนว มีสีให้เลือกมากมาย หลายเฉด เพื่อให้สามารถกลมกลืนไปกับกระเบื้อง ยกระดับบ้าน หรืออาคารให้ดูสวยงาม มีคุณค่า มีราคายิ่งขึ้น นอกจากเรื่องความสวยงามแล้ว ยาแนว ยังมีความยืดหยุ่นสูง จึงสามารถรองรับ การยืดหดตัวของกระเบื้องได้เป็นอย่างดี ช่วยยืดอายุการใช้งานให้กับพื้นบ้าน หรืออาคารได้อีกด้วย  การใช้งานยาแนวนั้น เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ควรใช้ร่วมกับ ปูนกาว หรือกาวซีเมนต์ สำหรับปูกระเบื้อง


ประเภทของยาแนว หรือ กาวยาแนว

วัสดุยาแนว รอยต่อ หรือที่เรียกกันว่า Sealant ใช้ปิดรอยต่อระหว่างวัสดุต่าง ๆ แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. ซิลิโคน

เป็นยาแนวที่มีความยืดหยุ่นสูงถึง 25% เป็นสารประกอบอนินทรีย์ ใช้งานได้หลากหลาย และทนรังสียูวี จึงใช้ภายนอกอาคารได้ มีแรงยึดเกาะสูง ใช้ยาแนวระหว่างอะลูมิเนียมกับกระจกได้ดี ซิลิโคนแบบมีกรด จะมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว แห้งเร็ว แต่ใช้ยาแนวโลหะ และหินธรรมชาติไม่ได้ ต้องใช้แบบไม่มีกรด ซึ่งยืดหยุ่นกว่า และไม่มีกลิ่นรบกวน แต่มีข้อเสีย คือ แห้งช้า แข็งแรงน้อยกว่า และมีราคาแพงกว่าประเภทมีกรด

ซิลิโคนมีหลายสี แบบใสใช้กับงานกระจกทั่วไป สีขาวใช้กับงานสุขภัณฑ์ และสีดำ สำหรับพื้นผิวที่มีสีเข้ม เช่น ท็อปเคาน์เตอร์แกรนิต เป็นต้น ข้อเสีย ที่สำคัญของซิลิโคนคือ ทาสีทับไม่ได้ และมีราคาแพงกว่าวัสดุยาแนวชนิดอื่นนั่นเอง


2. อะคริลิค

เป็นยาแนว ที่มีความยืดหยุ่น 5% ทำมาจากวัสดุกลุ่มไฮโดรคาร์บอน มีน้ำเป็นตัวทำละลาย แต่เมื่อแข็งตัวแล้วจะไม่ละลายน้ำ ข้อดี คือ ปิดรอย ขัดตกแต่งผิวงาน และทาสีทับได้ ราคาถูกกว่ายาแนวชนิดอื่น ข้อเสีย คือ ยืดหยุ่นน้อย รับแรงได้น้อย เนื่องจากมีน้ำเป็นตัวทำละลาย จึงไม่เหมาะสำหรับการใช้ในพื้นที่เปียกชื้น เพราะเนื้ออะคริลิคจะไม่แข็งตัว ที่สำคัญคือ ไม่ทนแดด จึงห้ามใช้กับงานภายนอกเด็ดขาด เหมาะสำหรับงานทั่วไป เช่น ปิดรอยแตกของผนัง ยาแนวรอยต่อกรอบประตู-หน้าต่างกับผนัง หรือรอยต่อสุขภัณฑ์

210531-Content-ยาแนวคืออะไร--มีกี่แบบ--ใช้งานแบบไหน-04


3. โพลียูริเทน

หรือที่มักเรียกกันว่า พียู มีความยืดหยุ่น 35% แข็งแรง ทนทาน แห้งแล้วไม่หดตัว ทาสีทับได้ ทนแสงยูวีได้ระดับหนึ่ง จึงใช้ได้ทั้งภายใน และภายนอกอาคาร ใช้ยาแนวรอยต่อระหว่างโครงสร้างของอาคาร ปิดรอยต่อเมทัลชีท, แผ่นพรีคาสท์คอนกรีต, ไม้, อะลูมิเนียม, เหล็ก, กระจก และโพลีคาร์บอเนต

4. โมดิฟายซิลิโคน

หรือไฮบริด ผลิตขึ้นโดยรวมคุณสมบัติที่ดีของพียูกับซิลิโคนไว้ด้วยกัน คือ ยืดหยุ่นตัวสูง ป้องกันรังสียูวีได้เหมือนซิลิโคน แต่ทาสีทับได้เหมือนพียู ใช้งานในพื้นที่เปียกชื้นได้ ยึดเกาะสูง และใช้ได้กับวัสดุเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นปูน, คอนกรีต, โลหะ, หินธรรมชาติ, สเตนเลส, อะลูมิเนียม, พีวีซี ไม้, ไฟเบอร์ซีเมนต์ และโพลีสไตรีน ไม่มีกรดที่เป็นอันตราย จึงไม่เกิดปฏิกิริยากับโลหะ หรือวัสดุต่าง ๆ และไม่มีกลิ่นฉุน ไม่มีสารพิษไอโซไซยาเนต จึงปลอดภัยกับผู้ใช้งาน

โมดิฟายซิลิโคน มีข้อดี ที่เหนือกว่ายาแนวชนิดอื่น แต่ข้อด้อยสำคัญ คือ ราคาสูงกว่ายาแนวชนิดอื่นมาก


เลือกยาแนวแบบไหนที่ใช่สำหรับงานคุณ

  • ยาแนวธรรมดา คือ ยาแนวที่ใช้งานได้ทั่วไป ข้อดี คือ ราคาย่อมเยา แต่มีข้อเสียคือ ไม่สามารถป้องกันเชื้อราดำได้ จึงเหมาะกับพื้นที่ที่ไม่มีความชื้น เช่น พื้นที่ภายในตัวอาคาร
  • ยาแนวกันเชื้อรา คือ ยาแนวที่ป้องกันเชื้อราดำได้ โดยใส่สารเคมีที่ยับยั้งการเกิดเชื้อราในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นยาแนวชนิดที่นิยมใช้กันมากที่สุด เหมาะกับพื้นที่มีความชื้น เช่น ห้องน้ำ พื้นที่ภายนอกอาคาร 
  • ยาแนวกระเบื้องร่องเล็ก กาวยาแนวประเภทนี้ จะมีความเหลวมากเป็นพิเศษ เพื่อช่วยในการไหลตัวเข้าไปตามร่องกระเบื้อง เหมาะสำหรับงานปูกระเบื้องที่ต้องปูชิดกัน เช่น กระเบื้องแกรนิโต้  โดยการใช้งานนั้นไม่ควรผสมรอไว้ เนื่องจากเป็นยาแนวชนิดแห้งตัวเร็วเป็นพิเศษ (Fast Setting)  และหากยาแนวชนิดนี้แห้งตัวแล้ว ไม่ควรใส่น้ำเข้าผสม เนื่องจากจะทำให้ยาแนวมีประสิทธิภาพลดลง
  • ยาแนวสระว่ายน้ำ เป็นกาวยาแนวสำหรับงานปูกระเบื้องสระว่ายน้ำ สปา และซาวน่า เนื่องจากเป็นยาแนวที่รองรับแรงอัด หรือแรงดันได้ดี ทนต่อคลอรีน
  • ยาแนว อีพ็อกซี่ เป็นกาวยาแนวชนิดที่ดีที่สุด เหมาะกับพื้นที่ที่ต้องการความทนทาน และความสะอาดเป็นพิเศษ ทนต่อสารเคมี เหมาะกับ พื้นโรงงาน สระว่ายน้ำ เนื่องจากเป็นกาวยาวแนวชนิดพิเศษที่มีราคาค่อนข้างสูง และส่วนผสมค่อนข้างซับซ้อน ในการนำมาใช้งานจึงควรเลือกใช้ช่างที่มีประสบการณ์หรือความชำนาญ 


การเลือกประเภทของยาแนวให้ถูกกับประเภทของงานนั้น เป็นสิ่งสำคัญ ควรพิจารณาตามรูปแบบการใช้งานจริง เพราะหากใช้ยาแนวผิดประเภท จะทำให้เกิดการหลุดร่อน และส่งผลทำให้กระเบื้องเกิดความเสียหายได้ เช่น กระเบื้องที่ปูชิดกัน ร่องกระเบื้องเล็ก เราควรเลือกใช้ ยาแนวกระเบื้องร่องเล็ก ซึ่งหากเลือกใช้ยาแนวธรรมดา มายาแนวร่องกระเบื้อง สุดท้ายยาแนวก็ร่อนออก เนื่องจากยาแนวนั้น ไม่สามารถไหลตัวไปตามร่องกระเบื้องได้ เป็นต้น

>>สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย<<