การสร้างบ้านตาม ทิศทางลม แดด ฝน เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้เป็นปัจจัยประกอบการออกแบบบ้าน เพื่อให้ได้บ้านอยู่ในทิศทางที่สัมพันธ์กับสภาพอากาศของเมืองไทย ทั้งร้อน ฝน หนาว รวมถึงทิศทางลมที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา บทความนี้ KACHA เลยอยากจะพาไปรู้จักกับ “ทิศทางลม” เพื่อเป็นความรู้สำหรับคนที่กำลังจะสร้างบ้านว่าจะสำคัญอย่างไร? ไปดูกันเลย
ทิศทางลม คืออะไร?
ทิศทางลมคือ กระแสอากาศที่เคลื่อนที่พัดผ่านเข้ามาตามทิศทางต่าง ๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ อีกเรื่องหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ในการใช้วางแปลนผังบ้านลงบนตำแหน่งของพื้นที่สำหรับปลูกสร้างบ้าน เพื่อให้บ้านหันไปในทิศทางที่เหมาะสมกับสภาพอากาศและตำแหน่งที่ตั้ง
ทิศทางลมในประเทศไทย เป็นอย่างไร?
ก่อนการสร้างบ้าน หรือซื้อบ้านนั้น สิ่งที่ควรรู้และทำความเข้าใจ คือ การวางแผนผังของทิศบ้านให้เหมาะสมกับทิศทางลม แดด และฝน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน มีสภาพอากาศร้อนอบอ้าวเกือบตลอดทั้งปี โดยแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้
1. ฤดูร้อน โดยเริ่มต้นประมาณช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
- อากาศร้อน : จะมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 35-39.9 อาศาเซลเซียส
- อากาศร้อนจัด : จะมีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
2. ฤดูฝน เริ่มต้นประมาณช่วงเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน โดยทั่วไปแล้ว จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนไม่ช้าก็เร็วกว่ากำหนดประมาณ 1-2 สัปดาห์ เมื่อมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ได้พัดผ่านปกคลุมประเทศไทย รวมถึงมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน ทำให้เริ่มมีฝนตกชุกทั่วทั้งประเทศ ซึ่งสามารถวัดค่าปริมาณน้ำฝนได้ ดังนี้
- ฝนวัดจำนวนไม่ได้ : ปริมาณฝนน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร
- ฝนเล็กน้อย : ปริมาณฝนระหว่าง 1-10.0 มิลลิเมตร
- ฝนปานกลาง : ปริมาณฝนระหว่าง 1-35.0 มิลลิเมตร
- ฝนหนัก : ปริมาณฝนระหว่าง 1-90.0 มิลลิเมตร
- ฝนหนักมาก : ปริมาณฝนตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรขึ้นไป
3. ฤดูหนาว เริ่มต้นประมาณช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ในช่วงราว ๆ 1-2 สัปดาห์แรกก่อนเปลี่ยนฤดูกาล จากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศจะมีความแปรปรวนค่อนข้างสูง และเกิดขึ้นไม่แน่นอน แม้ว่าจะเริ่มมีอากาศเย็นแล้ว แต่ก็ยังคงมีฝนตกประปรายอยู่ ซึ่งเกณฑ์ในการแบ่งอุณหภูมิต่ำสุดของลักษณะสภาพอากาศในฤดูหนาว สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
- อากาศหนาวจัด : จะมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส
- อากาศหนาว : มีอุณหภูมิระหว่าง 0-15.9 องศาเซลเซียส
- อากาศเย็น : มีอุณหภูมิระหว่าง 0-22.9 องศาเซลเซียส
ดังนั้นการออกแบบบ้าน ควรวางตำแหน่งให้ถูกทิศทาง เพื่อใช้ประโยชน์จากกระแสลมทั้ง 2 ช่วงเวลานี้มากที่สุด โดยด้านยาวของบ้าน หันเข้าหาทิศทางลม เพื่อรับความเย็นเข้าสู่ตัวบ้าน และมีตำแหน่งประตู-หน้าต่าง เป็นช่องเปิด ให้สามารถระบายถ่ายเทอากาศ และความร้อนระหว่างภายนอกและภายในได้อย่างสมดุล
ข้อดี-ข้อเสีย ของทิศทางลม
การอ่านทิศทางลมให้ออก ถือเป็นสิ่งจำเป็น และมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้บ้านน่าอยู่ มีอายุการใช้งานที่ยาวนานแล้ว ยังทำให้บ้านธรรมดา ๆ กลายมาเป็นบ้านประหยัดพลังงานได้อีกด้วย ข้อดีและข้อเสียของทิศทางลมที่ส่งผลโดยตรงต่อตัวบ้าน มีดังนี้
1. ข้อดีของบ้านที่ตั้งรับทิศทางลมได้ถูกต้อง
- ประหยัดพลังงาน เนื่องจากตัวบ้านถ่ายเทอากาศได้สะดวก ไม่ร้อนอบอ้าว และเย็นสบาย
- ยืดอายุการใช้งาน เนื่องจากลดแรงปะทะโดยตรงกับสภาพอากาศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแดด ลม และฝน
- สนุกกับการจัดการพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ ภายในบ้านให้เข้ากับทิศทางลม เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน โดยใช้ประโยชน์จากแสงแดดและลมจากธรรมชาติ
2. ข้อเสียของบ้านที่ตั้งรับทิศทางลมไม่ถูกต้อง
- หากตั้งทิศทางของบ้านในทิศทางรับกับลมมรสุม หรือได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม เมื่อเกิดพายุฝนลมฟ้ากระหน่ำ จะทำให้บ้านเกิดความเสียหายได้ เนื่องจากเป็นสุดเสี่ยงจากการพัดผ่านของกระแสลมและฝนโดยตรง
วางผังบ้านอย่างไรให้ถูกทิศทางลม แดด ฝน
ต้องรู้ทิศของแสงแดด ทิศฝนสาด
- ทิศแสงแดด ดวงอาทิตย์จะโคจรอ้อมไปทางทิศใต้นาน 8 เดือน คือ ช่วงเดือนกันยายน-เมษายน และอ้อมไปทางทิศเหนือเล็กน้อย 4 เดือน ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ทำให้ทิศใต้เป็นทิศที่รับแดดมากที่สุด แต่ทิศที่ร้อนที่สุด คือ ทิศตะวันตก เพราะรับแสงแดดโดยตรงในช่วงบ่ายนั่นเอง
- ทิศของลมและฝน ทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะเป็นทิศที่มีฝนสาดเข้าบ้านมากที่สุด เพราะเป็นฤดูฝน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ฤดูฝนจะเริ่มจากช่วงกลางเดือนพฤษภาคม และทิ้งช่วงไปสักพัก ก่อนจะกลับมาในเดือนกรกฎาคม จนไปสิ้นสุดในเดือนตุลาคม แต่บางพื้นที่ เช่น ภาคใต้ ยังคงมีฝนตกชุกไปจนถึงปลายปี
ต้องรู้ทิศของห้องนอน
ห้องนอน ควรตั้งอยู่ทางทิศเหนือ เพื่อรับแสงแดดอ่อน ๆ ที่แสนสดใสในยามเช้า ช่วงเวลา 6:30-9:00 น. อีกทั้งเมื่อถึงช่วงที่ดวงอาทิตย์โคจรอ้อมทิศใต้ ห้องที่อยู่ทางทิศนี้ จะไม่สะสมความร้อน ทำให้นอนหลับสบายในยามค่ำคืน ยิ่งถ้าเป็นช่วงฤดูหนาว ก็จะมีลมเย็น ๆ พัดโชยเข้ามาด้วย
ต้องรู้ทิศของห้องรับแขก ห้องทำงาน
ควรตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อรับแสงแดดในช่วงเช้าที่ยังไม่ร้อนจนเกินไป ตกบ่ายแสงแดดก็ไม่สาดเข้ามา จึงสามารถนั่งทำงานหรือนั่งเล่นได้อย่างรื่นรมย์ตลอดวัน
ต้องรู้ทิศของทางเข้าบ้าน และสวน
ควรอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่สีเขียวหน้าบ้าน จะช่วยให้ลมที่พัดผ่านเข้าไปในบ้านเป็นลมเย็น และสดชื่น ช่วยกรองแสงสะท้อนให้ดูนวลตา ไม่แข็งกระด้างเหมือนส่องผ่านพื้นปูนเข้าไป
ต้องรู้ทิศของห้องเก็บของ และลานจอดรถ
ห้องเก็บของ และลานจอดรถ ควรอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อเป็นตัวกั้นไม่ให้ความร้อนเข้าไปถึงตัวบ้านได้ แต่ก็ควรมีการระบายอากาศที่ดีด้วย ไม่เช่นนั้นฝุ่นและควัน อาจเป็นต้นเหตุให้ข้าวของในพื้นที่ส่วนนี้เสียหายได้ ทิศนี้ควรมีชายคายื่นยาวเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันแดดแรงช่วงบ่าย และป้องกันฝนสาดเข้าสู่ตัวบ้านด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :
ต้องรู้ทิศของห้องทานอาหาร
ห้องทานอาหาร ควรตั้งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรับลมจากทิศใต้ สำหรับการระบายอากาศ หรือหากใครจะยกไปตั้งติดกับห้องครัว ก็ไม่ผิดแต่อย่างใด
ต้องรู้ทิศของห้องน้ำ ห้องครัว ส่วนซักล้าง
ห้องน้ำ และห้องครัว ควรตั้งไว้ทางทิศตะวันตก เพื่อให้แสงแดดช่วยฆ่าเชื้อโรค และลดกลิ่นอับอันไม่พึงประสงค์ ทั้งยังช่วยป้องกันความร้อน และความชื้นเข้าไปยังพื้นที่ใช้งานในบ้าน และส่วนซักล้างควรอยู่ทางทิศตะวันตก เพื่อใช้ประโยชน์จากแสงแดดยามบ่ายอย่างเต็มที่ ควรมีชายคายื่นยาว เพื่อป้องกันแดดแรงฝนสาดด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างกับทิศทางลม ที่เรานำมาฝากกัน จะเห็นว่าทิศทางลม แดด ฝนนั้น มีส่วนช่วยทำให้ยืดอายุการใช้งานและถนอมบ้านให้อยู่กับเราไปนาน ๆ อยู่สบายในทุก ๆ ฤดู ทำให้บ้านไม่ร้อน เย็นสบาย และประหยัดพลังงานอีกด้วย ????????
>>สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย<<
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :
ข้อมูลและภาพจาก : บ้านและสวน