ลูกปูน คืออะไร? สำคัญกับการก่อสร้างอย่างไร?

“ลูกปูน” องค์ประกอบสำคัญในงานรากฐาน งานหล่อคอนกรีตสำเร็จรูป ทั้งเสา คาน และโครงสร้างอื่น ๆ ที่ต้องใช้เหล็กเสริม

วัสดุชนิดนี้คืออะไร? มีความสำคัญกับงานก่อสร้างอย่างไร? รวมถึงมีวิธีเลือกอย่างไรให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม? ตาม KACHA ไปดูกัน!

 ลูกปูน (Spacer) คืออะไร

ลูกปูน คืออะไร?

ลูกปูน (Spacer) เป็นก้อนคอนกรีตที่ใช้รอง ดัน หนุน และล็อกเหล็กเสริมไม่ให้ติดกับแบบหล่อในการเทคอนกรีต ช่วยให้คอนกรีตมีระยะหุ้ม (Concrete Covering) ที่เหมาะสม ผลิตจากปูนสปอร์ตแลนด์หรือปูนที่ใช้ในงานโครงสร้างผสมกับทรายและน้ำตามสัดส่วน ขนาดที่นิยมใช้เส้นผ่านศูนย์กลางจะอยู่ที่ 3 – 10 เซนติเมตร (3 , 5 , 7.5 และ 10) ความหนาจะใช้ตามข้อกำหนดระยะหุ้มเหล็กเสริมในคอนกรีตตามหลักวิศกรรม ส่วนการใช้งานจะมีทั้งที่อยู่บนพื้นดิน ใต้ดิน และใต้น้ำ มีทั้งแบบตั้งและแบบกลม ผู้ใช้สามารถเลือกตามประเภทงานได้ ถือเป็นวัสดุที่จำเป็นในงานฐานราก บันได พื้น เสา ดาดฟ้า ฯลฯ นอกจากลูกปูนแล้ว ยังมีลูกโลหะ ลูกพลาสติก ที่ใช้รองเหล็กเสริมได้ ทั้งสามมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • ลูกหนุนปูน หรือ ลูกหนุนคอนกรีต นิยมใช้มากที่สุด แต่สิ่งที่ควรระวัง คือ ความแข็งแรงของลูกปูนหรือคอนกรีตนั้นต้องแข็งแรงกว่าคอนกรีตที่เท ต้องใช้ปูนโครงสร้างในการปั้น หากใช้ปูนก่อผสมทรายจะรับแรงอัดได้น้อย
  • ลูกหนุนโลหะ/เหล็ก ให้ความแข็งแรง แต่ต้องเลือกประเภทโลหะให้เป็นชนิดเดียวกับโลหะที่ใช้เสริมแรงคอนกรีต เพราะถ้าใช้ต่างชนิดกันจะทำให้เกิดสนิมได้ โดยเฉพาะอะลูมิเนียมและสแตนเลสสตีล ลูกหนุนแบบนี้เหมาะสำหรับใช้จัดตำแหน่งของเหล็กเสริมช่วงในของคอนกรีต หรือ กำหนดตำแหน่งของเหล็กเสริมบน เรียกว่า บาร์แชร์, เหล็กตีนกา
  • ลูกหนุนพลาสติก เป็นลูกหนุนที่ไม่ค่อยได้รับความนิยม เนื่องจากพลาสติกมีการขยายตัว ทำให้เกิดการปริหรือแตกร้าวได้ หากเป็นงานรากฐานไม่แนะนำให้ใช้ลูกหนุนชนิดนี้

ขั้นตอนการทำลูกปูน

ขั้นตอนการทำ ลูกปูน

สิ่งที่ต้องเตรียม

  • ปูนสปอร์ตแลนด์ 3 ส่วน : ทราย 1ส่วน : น้ำ 1 ส่วน
  • แม่พิมพ์หรือแบบพิมพ์ (ท่อ PVC ขนาดที่ต้องการ)
  • ลวดมัดเหล็ก
  • เจียงใบโพธิ์
  • ภาชนะผสมปูน

วิธีทำลูกปูน

  1. ผสมปูนสปอร์ตแลนด์ ทราย และน้ำ ให้เข้ากันจนปูนมีความเหนียว
  2. ทำแม่พิมพ์ด้วยการนำท่อ PVC มาตัดให้ได้ขนาดตามต้องการ ใช้ลวดพันล้อมรอบท่อ PVC สำหรับทำมือจับ
  3. เมื่อได้แม่พิมพ์แล้ว เทปูนลงแม่พิมพ์ ใช้เจียงใบโพธิ์ปาดหน้าให้เรียบ เมื่อปูนเริ่มแห้ง พับลวดให้เป็นสองหรือสามเส้นแล้วเสียบลงตรงกลาง เพื่อทำเป็นหนวดกุ้งสำหรับมัดกับโครงสร้าง
  4. ในการทำลูกปูนแต่ละลูก ให้จุ่มแม่พิมพ์ลงในน้ำเปล่าทุกครั้ง เพื่อให้ปูนหลุด ไม่ติดกับแม่พิมพ์
  5. นำลูกปูนไปตากแดด 2 – 3 วัน ตามความเข้มของแสงแดด หากแห้งดีแล้ว สามารถนำไปใช้ได้

ลูกปูน มีประโยชน์อย่างไร?

ลูกปูน มีประโยชน์อย่างไร?
  • ช่วยดันเหล็กเสริมให้ล็อกอยู่กับที่ตามแบบ ไม่จมหรือเอนเอียงขณะคอนกรีตเริ่มเซ็ตตัว
  • ช่วยกันไม่ให้เหล็กเสริมติดกับแบบไม้ หล่อคอนกรีตง่ายขึ้น
  • ช่วยให้คอนกรีตกับเหล็กเสริมประสานกันอย่างสมบูรณ์
  • ช่วยให้เหล็กเสริมไม่ต้องสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศและน้ำ ป้องกันการเกิดสนิม ยืดอายุโครงสร้างให้อยู่นานขึ้น
  • ช่วยให้พื้น คาน เสาคอนกรีตแข็งแรงตามมาตรฐาน รับน้ำหนักโครงสร้างอื่น ๆ ได้
  • ใช้ในงานหล่อคอนกรีต เช่น เสา คาน ผนัง และเทพื้นคอนกรีต

ถ้าไม่ใช้ลูกปูน จะส่งผลอย่างไร?

ถ้าไม่ใช้ลูกปูนในการหนุนและดันเหล็กเสริมในงานหล่อหรืองานเทพื้น จะทำให้เหล็กเสริมติดกับแม่แบบจนเกินไป มีโอกาสสัมผัสกับความชื้น ทำให้เป็นสนิม เนื้อคอนกรีตหุ้มเหล็กน้อย ไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิศวกร และที่สำคัญคือทำประสิทธิภาพในการรับน้ำหนักของฐานราก พื้น เสา และคานลดน้อยลง ส่งผลให้โครงสร้างทั้งหมดพังได้

ราคาลูกปูน ลูกละกี่บาท?

ราคาลูกปูนขึ้นอยู่กับมาตรฐานการผลิต ทั้งวัสดุที่ใช้ กระบวนการผลิต และขนาด ราคาลูกปูนที่ขายตามท้องตลาดเริ่มต้นลูกละ 2 – 20 บาท ส่วนมากจะขายเป็นกระสอบ

พื้นที่ 1 ตารางเมตร ใช้ลูกปูนประมาณกี่ลูก?

การใช้ลูกปูนต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของลูกปูน หากลูกปูนมีขนาด 3 – 5 ซม. จะใช้ประมาณ 3-4 ลูก ในการดันหรือหนุนเหล็กเสริมในการเทพื้นคอนกรีต

วิธีเลือก ลูกปูน ตามหลักวิศวกรรม

วิธีเลือก ลูกปูน ตามมาตรฐานการก่อสร้าง

การเลือกลูกปูนที่ถูกต้อง นอกจากจะเลือกจากมาตรฐานการผลิตแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ห้ามมองข้ามเด็ดขาดเลย คือ “ระยะหุ้มคอนกรีตเหล็กเสริม” เพื่อให้คอนกรีตเสริมเหล็กมีระยะหุ้มที่ได้มาตรฐานตามกฎหมาย สามารถรองรับน้ำหนักหรือแรงอัดได้

ข้อกำหนด วสท.

ระยะหุ้มคอนกรีตเหล็กเสริม ข้อกำหนดของทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) สำหรับงานเสาเข็ม ฐานราก คาน เสา มีดังนี้

  1. ฐานรากและองค์อาคารส่วนสำคัญที่สัมผัสกับดินตลอดเวลา ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 7.5 ซ.ม.
  2. คอนกรีตที่สัมผัสกับดินหรือถูกแดดถูกฝน
    • เหล็กเส้นขนาดใหญ่กว่า 16 มม. ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 5 ซ.ม.
    • เหล็กเส้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 16 มม. หรือเล็กกว่า ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 4 ซ.ม.
  1. คอนกรีตที่ไม่สัมผัสกับดินหรือไม่ถูกแดดถูกฝน
  •  แผ่นพื้น ผนัง และตง
    • เหล็กเส้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 44 มม. ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 4 ซ.ม.
    • เหล็กเส้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 35 มม. หรือเล็กกว่า ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 2 ซ.ม.
  • คาน เหล็กเสริมหลักและเหล็กลูกตั้ง ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 3 ซ.ม.
  • เสา ทั้งแบบเหล็กปลอกเดียวและเหล็กปลอกเกลียว ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 3.5 ซ.ม.
  • คอนกรีตเปลือกบางและพื้นแผ่นพับ
    • สำหรับเหล็กเส้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 16 มม. ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 2 ซ.ม.
    • สำหรับเหล็กเส้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 16 มม. หรือเล็กกว่า ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 1.5 ซ.ม.
  1. ให้เพิ่มความหนาของคอนกรีตหุ้มเหล็กได้ตามความเหมาะสม เมื่ออยู่ในสภาวะรุนแรง หรือบรรยากาศที่อาจก่อให้เกิดการผุกร่อน
  2. กรณีใช้ร่วมกับมาตรฐานอื่น เช่น การป้องกันอัคคีภัย คอนกรีตหล่อสำเร็จ โครงสร้างเปลิกบาง ฯลฯ ให้ใช้ค่าที่มากกว่าเป็นเกณฑ์บังคับ

กฎกระทรวงควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 60)

  1. เสาสี่เหลี่ยมที่มีด้านแคบขนาด 30 ซม. ขึ้นไป ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 4 ซม.
  2. เสากลมหรือเสาตั้งแต่ห้าเหลี่ยมขึ้นไป ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 ซม. ขึ้นไป ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 4 ซม.
  3. คานและโครงสร้างข้อหมุนคอนกรีต ขนาดกว้างตั้งแต่ 30 ซม. ขึ้นไป ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 4 ซม.
  4. พื้นหนาไม่น้อยกว่า 11.5 ซม. ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 2 ซม.

ลูกปูน มองเผิน ๆ อาจจะไม่มีความสำคัญ แต่ความจริงแล้วเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีความจำเป็นมากในงานวางรากฐานและงานหล่อที่ต้องใช้เหล็กเสริม เพราะนอกจากจะช่วยดัน หนุน และล็อกให้เหล็กเสริมอยู่กับที่แล้ว ยังช่วยให้แผ่นคอนกรีตที่ได้มีระยะหุ้มตามกฎหมาย สามารถรับน้ำหนักโครงสร้างอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย