วิธีซ่อม หลังคารั่ว ทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ง้อช่าง
หลังคารั่ว อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่คนที่พักอาศัยอยู่ในบ้านมักพบเจอ โดยปกติแล้วอาการหลังคารั่วนั้นมักมาจากหลายสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น การแตกหักของกระเบื้อง อุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ได้มาตรฐาน, หลังคารั่วบริเวณรางน้ำ, หลังคารั่วบริเวณอุปกรณ์ที่ยึดติดกับหลังคา, หลังคารั่วบริเวณกระเบื้องหลังคา และหลังคารั่วบริเวณชายคาบ้าน ซึ่งนอกจากพื้นที่บริเวณหลังคายอดนิยมที่มักจะรั่วกันอยู่บ่อย ๆ จนต้องตามช่างซ่อมมาอุดรอยรั่ว แล้วดาดฟ้ารั่วก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักที่คนส่วนใหญ่ต้องพบเจอ แต่จะให้รอช่างมาซ่อมหลังคารั่ว ที่มีปัญหาอยู่บ่อย ๆ บางทีก็อาจจะไม่ทันใจ
KACHA ขอนำเสนอ วิธีซ่อมหลังคารั่วด้วยตัวเอง พร้อมสาเหตุการเกิด หลังคารั่ว เพื่อที่จะรับมือกับปัญหาให้ทันก่อนเกิดปัญหาหลังคารั่วอีกครั้ง
วิธีซ่อมหลังคารั่วด้วยตัวเอง ทำได้ไม่ยาก
ปัญหา หลังคารั่วซึม อาจเกิดขึ้นได้กับทุกบ้าน มีหลายสาเหตุ และอาจลุกลามใหญ่โตได้หากไม่รีบแก้ไข แต่อย่าเพิ่งกังวลใจไป เพราะเจ้าของบ้านสามารถซ่อมหลังคารั่วด้วยตัวเองได้ในเบื้องต้น และหากไม่อยากเผชิญกับความยุ่งยากลำบากเพราะน้ำรั่วซึมในบ้านโดยเฉพาะในฤดูฝน มาเริ่มตรวจเช็กหลังคารั่วตามเช็กลิสต์ แล้วมาดูวิธีซ่อมพร้อมกับสาเหตุหลังคารั่วกัน
1. หลังคารั่วจากรอยผุ หรือร้าว
- สาเหตุ: สำหรับบ้านที่สร้างมานานแล้ว วัสดุมุงหลังคาก็ย่อมต้องผุพังไปตามกาลเวลา หรือแม้แต่บ้านใหม่ก็อาจเกิดรอยแตกร้าวได้ จากการตกกระแทกของกิ่งไม้ หรือมีเศษวัสดุที่ปลิวมาตกใส่ แม้จะเป็นเพียงของชิ้นเล็ก ๆ แต่ก็สร้างความเสียหายได้ไม่น้อยหากปลิวมากับพายุ
- วิธีซ่อม: หากรอยร้าวมีไม่มาก เจ้าของบ้านสามารถปิดทับด้วยกาวซิลิโคน กาวอะคริลิค และเทปกันซึม ซึ่งเป็นวัสดุที่ช่วยในการช่วยปิดรอยร้าวบนแผ่นกระเบื้อง และเป็นวิธีซ่อมหลังคารั่วที่ง่าย ราคาถูก และมีประสิทธิภาพสูง แต่ถ้ากระเบื้องแผ่นนั้นแตกร้าวเสียหายมาก ก็ควรเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาแผ่นใหม่ดีกว่า
2. หลังคารั่วบริเวณอุปกรณ์ยึด
- สาเหตุ: หลังคาบางชนิด เช่น หลังคาสังกะสี หลังคาเมทัลชีท และกระเบื้องลอนคู่ ก็มักจะใช้สกรูยึดหลังคาที่เจาะทะลุกระเบื้องออกมารับแดดฝน ซึ่งจุดยึดเหล่านี้มีความเสี่ยงที่น้ำจะรั่วซึมได้ หากสกรูหรือแหวนรองเสื่อมสภาพถูกขันยึดไม่แน่นเพียงพอ
- วิธีซ่อม: หากชุดสกรูยึดหลังคาเสื่อมสภาพ เจ้าของบ้านควรเปลี่ยนชุดสกรูใหม่ แต่ถ้านั่นเป็นงานยากเกินไป การใช้วัสดุกันซึมทาทับก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยอุดรอยรั่วของอุปกรณ์ยึดหลังคาได้เช่นกัน
3. หลังคารั่วบริเวณขอบชนผนังบ้าน
- สาเหตุ: ในการต่อเติมบ้านและหลังคาจอดรถส่วนใหญ่ ช่างมักจะหลีกเลี่ยงไม่ให้หลังคายึดรั้งกับโครงสร้างหลักของบ้าน เพื่อป้องกันปัญหาการทรุดตัวของโครงสร้างที่ไม่เท่ากัน หลังคาที่ต่อออกมาจึงไม่แนบชิดสนิทกับผนังบ้าน และทำให้หลังคารั่วจากรอยต่อกับผนังได้ หากวัสดุเชื่อมรอยต่อไม่ดีเพียงพอ
- วิธีซ่อม: ตรวจสอบแผ่นปิดรอยต่อว่ามีจุดที่ปิดไม่สนิท หรือเสื่อมสภาพหรือไม่ และใช้กาวซิลิโคน ซึ่งเป็นวัสดุกันซึมที่มีน้ำหนักเบาและยืดหยุ่นได้ดี ยิงประสานระหว่างรอยต่อให้แนบสนิท เพื่อไม่ให้หลังคารั้งกับโครงสร้างหลักของบ้าน
4. หลังคารั่วบริเวณครอบสันหลังคา
- สาเหตุ: บริเวณจั่วและสันหลังคาบ้านจะมีตัวครอบสันหลังคา ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ใช้ปิดทับรอยบรรจบกันระหว่างหลังคาแต่ละด้าน การประกอบสันหลังคาไม่ดีทำให้มีช่องโหว่ หรือทำให้ปูนปั้นใต้สันหลังคาที่เคยอุดไว้แตก จึงส่งผลให้น้ำรั่วเข้าบ้านได้
- วิธีซ่อม: ให้ใช้อะไรสันหลังคาที่มีช่องโหว่ หรือแตก โดยขึ้นอยู่กับว่าบ้านใช้วิธีครอบสันหลังคาแบบใด
- การครอบหลังคาแบบเปียก ให้ถอดตัวครอบสันหลังคาที่มีปัญหา และกะเทาะปูนเก่าออก จากนั้นปั้นปูนประกบครอบหลังคาใหม่ในปริมาณที่พอเหมาะ แล้วใช้ปูนอุดรูระหว่างตัวครอบกับแผ่นหลังคาให้สนิทอีกครั้ง
- การครอบหลังคาแบบแห้ง ให้ถอดตัวครอบสันหลังคาที่มีปัญหา และตรวจสอบแผ่นรองว่าหลุดร่อนหรือไม่ หากมีปัญหา ก็อาจต้องรื้อปิดใหม่ และอาจใช้วัสดุกันซึมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อนก็ได้
5. หลังคารั่วบริเวณรางน้ำตะเข้
- สาเหตุ: รางน้ำตะเข้ เป็นรางน้ำที่ซ่อนอยู่ภายในหลังคา ใช้รองรับน้ำระหว่างมุม หรือร่องหลังคา ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่เกิดสนิมและผุกร่อนได้ง่ายหากมีเศษใบไม้เข้าไปสะสมเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ รางน้ำแคบก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำย้อนเข้าหลังคาได้เมื่อฝนตกหนัก
- วิธีซ่อม: การทำให้รางน้ำตะเข้ปราศจากเศษวัสดุที่ขวางทางน้ำ จะช่วยให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น หากมีรอยรั่ว ให้แก้ในเบื้องต้นด้วยวัสดุกันซึม แล้วติดต่อช่างหลังคามาเปลี่ยนรางน้ำโดยเร็ว เพราะรางน้ำตะเข้นั้นเป็นจุดที่รับน้ำแรงที่สุด แม้แต่วัสดุกันซึมก็อาจเอาไม่อยู่ด้วยเหมือนกัน
6. หลังคารั่วเพราะหลังคาเปิดเผยอ
- สาเหตุ: เสาอากาศที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาหรือสลิงที่ใช้ยึดกับขอบหลังคานั้น อาจดึงรั้งแผ่นกระเบื้องจนขยับหรือเปิดเผยอขึ้นมาได้ นอกจากนี้หลังคาที่ยึดเกาะกับโครงสร้างไม่ดีก็อาจเปิดเผยอได้เมื่อโดนลมแรง
- วิธีซ่อม: เจ้าของบ้านสามารถขึ้นไปจัดกระเบื้องที่เปิดเผยอให้กลับเข้าที่ แล้วยึดกระเบื้องให้แน่นขึ้นด้วยปูน กาวยึด หรือสกรู หากกระเบื้องถูกรั้งด้วยสลิง เจ้าของบ้านก็ควรเปลี่ยนจุดขึงสลิงใหม่ หรือเปลี่ยนไปยึดเสากับผนังบ้านจะดีกว่า
7. หลังคาดาดฟ้ารั่วซึม
- สาเหตุ: ดาดฟ้ารั่วนับเป็นปัญหาคู่บ้านที่มีลักษณะเป็นตึกแถวไม่มีหลังคา โดยเกิดจากพื้นปูนบนดาดฟ้ามีรอยร้าว หรือแผ่นคอนกรีตที่เป็นวัสดุในการวางดาดฟ้าถูกวางประกบกันไม่แนบสนิทจริง ๆ แม้มักจะมีการทาน้ำยากันซึมบนดาดฟ้าเพื่อป้องกันปัญหาช่องโหว่ระหว่างแผ่นคอนกรีตนี้ แต่น้ำยาก็เสื่อมสภาพได้ตามกาลเวลาและทำให้น้ำรั่วซึมลงมาในบ้านได้
- วิธีซ่อม: เจ้าของบ้านสามารถทาน้ำยากันซึมใหม่อีกชั้น แต่ถ้าดาดฟ้ามีรอยร้าวที่ค่อนข้างใหญ่ ควรซ่อมแซมปิดรอยร้าวด้วยปูนฉาบเสียก่อน จึงจะลงน้ำยากันซึมหรือทาสีกันซึมดาดฟ้าได้
อุปกรณ์ซ่อมหลังคารั่ว มีอะไรบ้าง?
- กาวซิลิโคน อุปกรณ์ซ่อมหลังคาที่ใช้ในการเชื่อมต่อเพื่ออุดรอยรั่วหลังคาได้เป็นอย่างดี โดยปกติแล้วกาวซิลิโคน จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือแบบที่มีกรดและไม่มีกรด โดยกาวซีลิโคน จะสามารถใช้งานได้ดีกับการเชื่อมต่อผนัง การเชื่อมต่อหลังคา แผ่นกระเบื้อง ด้วยลักษณะความยืดหยุ่นสูง กันแดด กันน้ำได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญต้องใช้กาวซิลิโคลนที่มีคุณภาพสูง เนื้อกาวเข้มข้นสามารถช่วยยึดติดกับหลังคาได้ดี และเลือกใช้แบบที่ไม่มีกรด และต้องเลือกใช้กาวซิลิโคลนที่ไม่ทิ้งคราบเลอะเทอะไว้ที่ตัวของกระเบื้องที่เราใช้งาน
- กาวอะคริลิค หรือกาวยาแนวชั้นดี ที่ช่วยใช้ในการเชื่อมต่อหลังคารั่วซึม และอุดรอยรั่วหลังคาได้เป็นอย่างดี ด้วยเนื้อกาวอะคริลิคที่มีคุณภาพสูง เหมาะกับงานละเอียดที่ต้องการอุดรอยรั่วหลังคา และปิดตกแต่งไม่ให้หลังคาเกิดรอย และช่วยตกแต่งงานผิวกระเบื้องให้เรียบเนียนมากยิ่งขึ้น ด้วยตัวคุณสมบัติของเนื้อกาวอะคริลิคที่มีความแข็งตัวได้อย่างรวดเร็ว และมีความยืดหยุ่นน้อย ช่วยเชื่อมต่องานกระเบื้อง ปิดรอยรั่ว และรอยแตกของผิวได้เป็นอย่างดี
- เทปกันซึม เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์อุดรอยรั่วหลังคา ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ เพราะเป็นวัสดุที่ใช้งานง่ายสามารถทาทับ เพื่อปกปิดรอยรั่วภายในตัวได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นเทปกันซึมที่มีกาวอยู่ในตัว โดยปกติแล้ว มักจะผลิตออกมาให้สามารถกันน้ำได้ กันแดดได้ดี มีความทนทานสูง สามารถใช้ได้ทั้งกับกระเบื้อง หลังคา พื้นผิวที่ทำจากโลหะ กระจก รวมไปถึงเนื้อไม้ สามารถใช้ในการปกปิด และเชื่อมรอยต่อบนพื้นผิววัสดุต่าง ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม
- ชุดสกรูยึดหลังคา อีกหนึ่งตัวช่วยยอดนิยมในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่ใช้ยึดเหนี่ยว เพื่อแก้ปัญหา หลังคารั่ว โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการเจาะรูลงไปให้ยุ่งยาก ด้วยความสามารถของชุดสกรูยึดหลังคา ที่ใช้ในการยึดหลังคากระเบื้อง มีคุณสมบัติในการยึดเหนี่ยวสูง กันน้ำ กันแดดได้เป็นอย่างดี ซึ่งโดยปกติแล้วความยาวของชุดสกรูยึดหลังคา จะอยู่ที่ 2-3 เซนติเมตร พร้อมทำจากวัสดุเกรดพรีเมียม ราคาไม่แพง สามารถซื้อมาใช้ ซ่อมหลังคารั่ว และอุดรอยรั่วหลังคาได้ไม่แพ้อุปกรณ์อื่นเลยทีเดียว
❝ จะเห็นได้ว่าสาเหตุและ วิธีซ่อมหลังคารั่ว เหล่านี้ ทำได้ไม่ยากเลยใช่ไหม อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดมี หลังคารั่ว ในบริเวณบ้าน ขอให้นึกถึงวัสดุกันซึมอย่าง กาวซิลิโคนและเทปกันซึมไว้ก่อน เพราะวัสดุเหล่านี้สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดีนั่นเอง ❞
สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย
อ้างอิงข้อมูลจาก: ddproperty.com