ปัญหาหลัก ๆ ที่ผู้อยู่อาศัยหนีไม่พ้น และต้องพบเจอ เมื่ออยู่อาศัยได้ 1- 2 ปี โดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรร ที่ผุดขึ้นใหม่ในปัจจุบัน คือ พื้นดินโดยรอบบ้านทรุดตัว หรือเกิดดินยุบ จนเกิดเป็น โพรงใต้บ้าน ที่สร้างความกังวลใจ และปัญหาเรื้อรังให้กับเจ้าของบ้าน เพราะนอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นให้โครงสร้างบ้านเกิดการทรุดตัวแล้ว ยังเป็นช่องให้สัตว์เลื้อยคลาน โดยเฉพาะ งู และปลวก เข้าไปสร้างบ้านทำรังหลบซ่อน และพร้อมออกมาก่อกวนเจ้าของบ้านได้อีกด้วย KACHA อยากขอแชร์ วิธีแก้ปัญหาโพรงใต้บ้าน แบบเบื้องต้นมาฝากกัน ว่าสามารถทำได้อย่างไรบ้าง ไปดูกัน

โพรงใต้บ้าน เกิดจากอะไร?

ปัญหาโพรงใต้บ้าน ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาดินทรุดตัวทางธรรมชาติ ซึ่งปกติพื้นดิน มีโอกาสที่จะทรุดได้อยู่แล้ว แต่จะมาก หรือน้อยขึ้นกับหลายปัจจัย ในบางกรณี หากละเลยอาจส่งผลให้บ้านทรุดในภายหลังได้ เช่น ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีลักษณะเป็นชั้นดินอ่อน ระดับการทรุดตัวค่อนข้างมาก ประมาณ 10 เซนติเมตร/ปี หรือหากการก่อสร้างนั้น เพิ่งมีการถมดิน ที่ยังทิ้งระยะเวลาไม่นานนัก ดินที่ถมใหม่ ยังไม่แน่นพอ เมื่อผ่านฝนไปอีก 2-3 ปี จะมีการทรุดเพิ่มภายหลัง และเมื่อดินทรุดมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเริ่มมองเห็นฐานรากของบ้าน เสี่ยงต่อการที่บ้านทรุด จึงเกิดเป็นโพรงดินใต้บ้าน หากระบบฐานรากออกแบบไว้ดีแล้ว จะไม่ส่งผลกระทบใดกับตัวบ้าน มีเพียงปัญหาดินเป็นโพรงเท่านั้น

220510-Content-วิธีแก้ปัญหาโพรงใต้บ้าน-แก้ไขได้-ก่อนจะเสี่ยงบ้านทรุด02

???? ดินทรุด เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากการถมดิน และปลูกสิ่งก่อสร้าง อย่างบ้าน อาคารต่าง ๆ ในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยไม่รอให้ดินที่ถมลงไปเซ็ทตัวให้แน่นเสียก่อน โดยเฉพาะ ดินในพื้นที่บริเวณกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่มีลักษณะเป็นดินเหนียวอ่อน ซึ่งมีอัตราการยุบตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดฝนตกจึงทำให้ดินที่ถมไว้เกิดการทรุดตัว และไหลลงสู่ที่ตำ ส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่างคานด้านล่างบ้านกับพื้นดินจนเกิดเป็นโพรงใต้บ้าน และส่งผลต่อพื้นที่โดยรอบบ้าน ที่อาจเกิดการปริ หรือแตกออกจากโครงสร้างบ้าน โดยปกติ พื้นดินจะยุบประมาณ 10 เซนติเมตร ภายในระยะเวลา 1 ปี

???? ส่วนบ้านทรุดนั้น เป็นปัญหาที่เกิดจากบ้านทรุดตัวไปพร้อมกับชั้นดิน มักเกิดเป็นรอยร้าวบริเวณผนัง และพื้น ผนังบ้านแยกออกจากโครงสร้าง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่กว่าดินทรุดตัว โดยปกติแล้ว การสร้างบ้านควรใช้เสาเข็ม ที่มีความยาว และลึก เพื่อให้สามารถแบกรับน้ำหนักตัวบ้านได้ หากดินช่วงบนเกิดการทรุดตัว จะได้ไม่กระทบกับเสาเข็ม

วิธีแก้ปัญหาโพรงใต้บ้าน ขั้นตอนเบื้องต้น ทำได้อย่างไรบ้าง?

1. นำขอบคันหิน หรือกระถางต้นไม้ มาปิดบริเวณโพรงใต้บ้าน หรือช่องโหว่

วิธีนี้เป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ที่ไม่ยุ่งยาก หลาย ๆ บ้านสามารถทำได้ด้วยตนเอง หากไม่แน่ใจว่าพื้นดินโดยรอบบ้านจะทรุดตัวลงเรื่อย ๆ อีกหรือไม่ เพียงนำกระถางต้นไม้ ตุ๊กตาหินแต่งสวน ไฟฝังพื้นตกแต่งสวน ขอบคันหิน หรืออุปกรณ์ตกแต่งสวนอื่น ๆ มาวางเรียงกัน แล้วจัดพื้นที่ให้กลายเป็นสวนต้นไม้ขนาดย่อม ให้สวยงาม สามารถเลือกทรงกระถางได้ตามความเหมาะสม แต่แนะนำควรใช้เป็นทรงสี่เหลียม เพื่อให้เข้ากับผนัง และมุมบ้าน

2. ใช้แผ่นพื้นคอนกรีตเสียบลงในดิน

เพื่อปิดโพรงใต้บ้าน เมื่อพื้นดินเกิดการทรุดตัว พื้นคอนกรีตโดยรอบ อาจเกิดการแตกร้าว ดังนั้น ควรทุบ และขุดดินโดยรอบให้ลึกกว่าดินใต้ตัวบ้าน แล้วนำแผ่นพื้นคอนกรีตเสียบลงในดินให้แน่น โดยให้ขอบด้านบนของแผ่นพื้นคอนกรีต อยู่ในระดับเดียวกับแนวคาน แล้วค่อย ๆ ปรับสภาพดินรอบตัวบ้าน หรือตกแต่งด้วยสวนต้นไม้ ดอกไม้ ตามความเหมาะสม แต่วิธีนี้ ควรระมัดระวังเรื่องระบบท่อน้ำ และท่อระบายน้ำรอบบ้านระหว่างการขุด และเสียบแผ่นคอนกรีต

220510-Content-วิธีแก้ปัญหาโพรงใต้บ้าน-แก้ไขได้-ก่อนจะเสี่ยงบ้านทรุด03

3. ปรับระดับพื้นดิน

เป็นทางออกที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ถาวร แต่อาจเกิดความยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา หากเจ้าของบ้านสังเกตการทรุดตัวของดินแล้วว่ามีความคงที่ และน่าจะไม่ทรุดตัวลงอีก ซึ่งปกติแล้วการทรุดตัวของดินจะอยู่ที่ 10 เซนติเมตร ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยถมดินให้สูงกว่าโพรงใต้บ้าน หากบริเวณพื้นที่ดังกล่าว มีการปูวัสดุตกแต่งทับ เช่น กระเบื้อง บล็อกคอนกรีต ควรลื้อออก และปรับหน้าดินด้วยการถมทราย หรือดินให้แน่น หรือ ยางมะตอยสำเร็จรูป แก้ปัญหาพื้นทรุด แตก ไม่แนะนำให้เติมดิน หรือทรายลงใต้ตัวบ้าน เพราะจะทำให้เสาเข็มรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น อาจทำให้ตัวบ้านเกิดความเสียหายได้

4. ตอกเสาเข็ม

หลาย ๆ บ้านมักชอบต่อเติมครัวไทยหลังบ้าน ลาดจอดรถหน้าบ้าน ลานซักล้าง และพื้นที่นั่งเล่น ให้เชื่อมต่อกับตัวบ้าน โดยพื้นที่ต่อเติม บางครั้งไม่ได้ลงเสาเข็มไว้ เมื่อพื้นดินบริเวณเกิดการทรุดตัว จึงทำให้ดึงโครงสร้างบ้านเดิมให้เกิดการแตกร้าว และเกิดความไม่สม่ำเสมอของระดับพื้น ดังนั้น หากต้องการต่อเติมพื้นที่ต่าง ๆ ควรตอกเสาเข็ม ให้ถึงชั้นดินแข็ง หรือลงให้ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดปัญหาพื้นดินทรุดตัว และเกิดเป็นโพรงใต้บ้าน หรือควรก่อสร้างส่วนต่อเติมกับโครงสร้างตัวบ้านแยกออกจากกันโพรงใต้บ้าน เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อโครงสร้างบ้านเป็นหลัก

220510-Content-วิธีแก้ปัญหาโพรงใต้บ้าน-แก้ไขได้-ก่อนจะเสี่ยงบ้านทรุด04

แม้จะมีหลาย ๆ วิธีในการแก้ไขปัญหานี้ แต่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงแล้ว ควรทำตั้งแต่ขั้นตอนก่อนเริ่มก่อสร้างบ้าน หรืออาคาร จะได้ไม่สร้างปัญหายุ่งยาก และชะลอปัญหาดินทรุดตัวให้กับเจ้าของบ้านได้

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :

เป็นอย่างไรกันบ้างกับสาเหตุ วิธีแก้ไขต่าง ๆ เกี่ยวกับโพรงใต้บ้าน ที่นำมาฝากกันเบื้องต้น เรื่องรอยแตกร้าว บ้านทรุด ดินยุบนั้น เป็นปัญหาใหญ่อันดับต้น ๆ ของบ้าน เพราะมีการแก้ไขที่ค่อนข้างยุ่งยาก หลายขั้นตอน และเสียค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นการป้องกันไว้ก่อนจึงดีกว่าแก้ไข บทความหน้าจะมีอะไรมาฝากกันอีกนั้น อย่าลืมติดตามกันด้วยนะจ๊ะ ????

>>สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย<<

● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● 

KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่างราคาถูก และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!!

เลือกดูสินค้า รถเข็นเครื่องมือช่าง  คลิกเลย ????????

บทความที่เกี่ยวข้อง :

ข้อมูลจาก : homeguru.homepro