ปัจจุบันปัญหาเรื่องทางเดินหายใจกลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่มีความเข้มข้นอย่างมาก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ที่สามารถมองเห็นฝุ่นควันได้ชัดเจน สำหรับบุคคลากรในภาคอุตสาหกรรมปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้กลายเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าภาคส่วนอื่น เนื่องจากต้องทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวโน้มการเผชิญหน้ากับปัญหาทางเดินหายใจที่เข้มข้นยิ่งกว่าพื้นที่ใด ๆ ดังนั้นการทำความเข้าใจ และเลือกใช้หน้ากากป้องกันทางเดินหายใจ หน้ากากกันสารเคมี ที่เหมาะสม จึงเป็นความรู้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับทุกคนในสายงานอุตสาหกรรม

บทความนี้ KACHA จะพาไปรู้จักกับ หน้ากากกันสารเคมี ให้มากขึ้นกัน


ประเภท หน้ากากกันสารเคมี อุปกรณ์ป้องกันทางหายใจ

ประเภทอุปกรณ์ป้องกันทางหายใจ หน้ากากกันสารเคมี แบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ

1. ประเภทที่ทำให้อากาศปราศจากมลพิษ ก่อนที่จะเข้าสู่ทางเดินหายใจ (Air purifying devices) ได้แก่

  • หน้ากากกรองอนุภาค ทำหน้าที่กรองอนุภาคที่แขวนลอยในอากาศ ซึ่งได้แก่ ฝุ่น ฟูม ควัน มิสท์ ส่วนประกอบที่สำคัญของหน้ากากกรองอนุภาค ได้แก่
    1. ส่วนหน้ากาก มีหลายขนาด เช่น ขนาด ¼ หน้า ขนาด ½ หน้า หรือขนาดเต็มหน้า
    2. ส่วนกรองอากาศ ประกอบด้วยวัสดุกรองอากาศ (Filter) ที่นิยมใช้มี 3 ลักษณะ คือ
      • ชนิดเป็นแผ่น ทำจากเส้นใยอัด ให้มีความพอเหมาะ สำหรับกรองอนุภาค โดยให้มีประสิทธิภาพการกรองอากาศสูงสุด และแรงต้านทานต่อการหายใจเข้าน้อยที่สุด
      • ชนิดที่วัสดุกรองอากาศถูกบรรจุอยู่ในตลับแบบหลวม ๆ เหมาะสำหรับกรองฝุ่น
      • ชนิดที่มีประสิทธิภาพสูง โดยนำวัสดุกรองอากาศ ที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางมาพับขึ้นลง ให้เป็นจีบบรรจุในตลับ เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิว สำหรับอนุภาคที่จะไปเกาะ และลดแรงต้านการหายใจ
      • ชนิดไส้กรองฝุ่นที่ได้มาตรฐาน
    3. สายรัดศีรษะ ซึ่งสามารถปรับได้ตามต้องการ เพื่อให้กระชับกับหน้าผู้สวมใส่อยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังมีหน้ากากกรองอนุภาค ชนิดใช้แล้วทิ้ง ส่วนประกอบของหน้ากาก คือ หน้ากาก และวัสดุกรองจะรวมไปชิ้นเดียวกัน ส่วนบนของหน้ากากมีแผ่นโลหะอ่อน ซึ่งสามารถปรับให้โค้งงอได้ ตามแนวสันจมูก เพื่อช่วยให้หน้ากากแนบกับใบหน้าผู้สวมใส่
211015-Content-หน้ากากกันสารเคมีแต่ละประเภทใช้งานอย่างไร02
  • หน้ากากกรองก๊าซไอระเหย ทำหน้าที่กรองก๊าซ และไอระเหย ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ

ส่วนประกอบที่สำคัญของหน้ากากกรองก๊าซไอระเหย คือ

  1. ส่วนหน้ากาก และสายรัดศีรษะ 
  2. ส่วนกรองอากาศ เป็นตลับ หรือกระป๋องบรรจุสารเคมี ซึ่งเป็นตัวจับมลพิษโดยการดูดซับ หรือทำปฏิกิริยากับมลพิษ ทำให้อากาศที่ผ่านตลับกรองสะอาด ปราศจากมลพิษ ส่วนกรองอากาศนี้ สามารถใช้ได้เฉพาะสำหรับก๊าซ หรือไอระเหย แต่ละประเภทตามที่ระบุไว้เท่านั้น เช่น ส่วนกรองอากาศที่ใช้กรองก๊าซแอมโมเนีย จะสามารถป้องกันเฉพาะก๊าซแอมโมเนียเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันมลพิษชนิดอื่นได้ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่จะใช้หน้ากากกรองก๊าซไอระเหย ควรเลือกซื้อ หรือเลือกใช้ให้เหมาะสม กับชนิดของมลพิษที่จะป้องกัน ตามที่ American National Standard ได้กำหนดมาตรฐาน (ANSI K 13.1-1973) รหัสสีของตลับกรอง สำหรับกรองก๊าซไอระเหย ชนิดต่าง ๆ มีดังนี้
ชนิดมลพิษ สีที่กำหนด
ก๊าซที่เป็นกรด ขาว
ไอระเหยอินทรีย์ ดำ
ก๊าซแอมโมเนีย เขียว
ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ น้ำเงิน
ก๊าซที่เป็นกรด และไอระเหยอินทรีย์ เหลือง
ก๊าซที่เป็นกรด แอมโมเนีย และไอระเหยอินทรีย์ น้ำตาล
ก๊าซที่เป็นกรด แอมโมเนีย คาร์บอนมอนอกไซด์ ไอระเหยอินทรีย์ แดง
ไอระเหยอื่น ๆ และก๊าซที่ไม่กล่าวไว้ข้างต้น เขียวมะกอก
สารกัมมันตรังสี (ยกเว้น ไทรเทียม และโนเบลก๊าซ) ม่วง
ฝุ่น ฟูม มิสท์ ส้ม


หน้ากากกรองก๊าซไอระเหย มีอยู่ 3 ประเภท คือ

  1. หน้ากากกรองก๊าซไอระเหย ชนิดตลับกรองสารเคมี (Cartridge Respirator) สามารถป้องกันก๊าซ และไอระเหยที่ปนเปื้อนในอาการ ที่ความเข้มข้นประมาณ 10-1,000 ppm. ไม่เหมาะที่จะใช้กรณีที่มีความเข้มข้นสูง ในระดับที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตทันที (Immediately dangerous to life or health level – IDHL) ยกเว้นในกรณีที่ใช้หนีออกจากบริเวณอันตรายนั้น ซึ่งใช้เวลาสั้น ๆ
  2. หน้ากากกรองก๊าซ (Gas mask) มีลักษณะคล้ายหน้ากากกรองก๊าซ และไอระเหยชนิดตลับกรองสารเคมี ต่างกันส่วนที่บรรจุสารเคมี เพื่อทำให้อากาศที่ปนเปื้อนด้วยมลพิษสะอาด ก่อนที่จะถูกหายใจเข้าสู่ทางเดินหายใจเท่านั้น ซึ่งแบ่งเป็น
    • ชนิดที่กระป๋องอยู่ที่คางบรรจุสารเคมี (Chin-Canister) ประมาณ 250-500 ลบ.ซม. ใช้กับหน้ากากเต็มหน้า
    • ชนิดที่กระป๋องบรรจุสารเคมีอยู่ด้านหน้า (Front/Back-Canister)  หรือด้านหลังบรรจุสารเคมี 1,000-2,000 ลบ.ซม. ใช้กับหน้ากากเต็มหน้า
    • ชนิดหน้ากากหนีภัย
  3. หน้ากากที่ทำให้อากาศสะอาด ชนิดที่มีพลังงาน ช่วยเป่าอากาศเข้าในในหน้ากาก (Powered air-purifying respirator) หน้ากากชนิดนี้ มีส่วนประกอบคล้ายกับหน้ากากป้องกันก๊าซไอระเหย และหน้ากากกรองก๊าซ มีสิ่งที่เพิ่มขึ้น คือ มีเครื่องเป่าอากาศให้ผ่านตลับ หรือกระป๋องสารเคมี ซึ่งจะช่วยลดแรงต้านทานการหายใจเข้าของผู้สวม ทำให้ผู้สวมรู้สึกสบายขึ้น

▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ 

ข้อปฏิบัติในการใช้หน้ากาก ประเภทที่ทำให้อากาศสะอาด ก่อนเข้าสู่ทางเดินหายใจ

  1. เลือกขนาดหน้ากากให้เหมาะ เพื่อไม่ให้มีช่องว่างระหว่างหน้า และขอบหน้ากาก
  2. เลือกวัสดุกรองอนุภาค หรือตลับกรองมลพิษ (Cartridges) หรือกระป๋องกรองมลพิษ (Canisters) ให้เหมาะสมกับชนิดมลพิษที่ต้องการกรอง
  3. ใส่ส่วนที่ทำหน้าที่กรองมลพิษ กับตัวหน้ากาก
  4. ตรวจสอบรอยรั่ว หรือช่องว่าง ที่ทำให้อากาศเข้าไปในหน้ากาก โดยทดสอบ Negative Pressure และ Positive Pressure
    • วิธีทดสอบ Negative Pressure โดยใช้ฝ่ามือปิดทางที่อากาศเข้าให้สนิท แล้วหายใจเข้า ตัวหน้ากากจะยุบลงเล็กน้อย และคงค้างไว้ในสภาพนั้นประมาณ 10 วินาที แสดงว่า ไม่มีรอยรั่วที่อากาศจะไหลเข้าไปในหน้ากากได้
    • วิธีทดสอบ positive pressure โดยการปิดลิ้นอากาศออก แล้วค่อยๆ หายใจออก ถ้าเกิดความดันเพิ่มขึ้น ในหน้ากากแสดงว่า หน้ากากไม่มีรอยรั่ว
  5. ขณะสวมหน้ากาก หากได้กลิ่นก๊าซ หรือไอระเหย ควรเปลี่ยนตลับกรอง หรือกระป๋องกรองมลพิษทันที
  6. หน้ากากแบบ Powered Air Purifying ควรตรวจสอบท่อส่งอากาศ และข้อต่อต่าง ๆ ที่อาจทำให้ก๊าซหรือไอระเหยรั่วซึมเข้าไปได้


2. ประเภทที่ส่งอากาศจากภายนอกเข้าไปในหน้ากาก (Atmosphere – supplying respirator)

เป็นอุปกรณ์ป้องกันทางหายใจ ชนิดที่ต้องมีอุปกรณ์ส่งอากาศ หรือออกซิเจนให้กับผู้สวมใส่ดยเฉพาะ แบ่งเป็น

  • ชนิดที่แหล่งส่งอากาศติดที่ตัวผู้สวม (Self contained breathing apparatus หรือที่เรียกว่า SCBA) ผู้สวมจะพกเอาแหล่งส่งอากาศ หรือถังออกซิเจนไปกับตัว ซึ่งสามารถใช้ได้นานถึง 4 ชั่วโมง ส่วนประกอบของอุปกร์นี้ ประกอบด้วยถังอากาศ สายรัดติดกับผู้สวม เครื่องควบคุมความดัน และการไหลของอากาศ จากถังไปยังหน้ากาก ท่ออากาศ และหน้าชนิดเต็มหน้า หลักการทำงานของอุปกรณ์นี้ มี 2 แบบ คือ
    • แบบวงจรปิด หลักการ คือ ลมหายใจออกจะผ่านเข้าไปในสารดูดซับ เพื่อกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วกลับเข้าไปในภาชนะบรรจุออกซิเจนเหลว หรือออกซิเจนแข็ง หรือสารสร้างออกซิเจน แล้วกลับเข้าสู่หน้ากากอีกครั้ง
    • แบบวงจรเปิด หลักการ คือ ลมหายใจออกจะถูกปล่อยออกไปไม่หมุนเวียน กลับมาใช้อีก อากาศที่หายใจเข้าแต่ละครั้ง มาจากถังบรรจุออกซิเจน
211015-Content-หน้ากากกันสารเคมีแต่ละประเภทใช้งานอย่างไร03
  • ชนิดที่ส่งอากาศไปตามท่อ (Supplied air respirator) แหล่งหรือถังเก็บอากาศจะอยู่ห่างออกไปจากตัวผู้สวม อากาศจะถูกส่งมาตามท่อเข้าสู่หน้ากาก

▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ 

ข้อปฏิบัติในการใช้อุปกรณ์ป้องกันทางหายใจ แบบส่งอากาศจากภายนอกเข้าไปในหน้ากาก

  1. ตรวจอุปกรณ์ทุกส่วนให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยก่อนใช้งาน
  2. ปรับอัตราการไหลของออกซิเจนให้เหมาะสม หน้าปัทม์บอกปริมาณออกซิเจน ควรอยู่ในสภาพที่ผู้สวมใส่สามารถเห็นได้ชัดเจน
  3. ขณะสวมหน้ากากอยู่ หากได้กลิ่นสารเคมี ควรรีบออกจากบริเวณนั้นทันที
  4. ควรมีท่อสำรอง และสารช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉิน หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้น เช่น ท่อนำส่งอากาศชำรุด เป็นต้น
  5. ผู้สวมใส่ต้องได้รับการฝึกอบรมวิธีการใช้งานมาเป็นอย่างดี
  6. ต้องมีการบำรุงรักษาที่ดี เช่น ตรวจสอบถังอากาศ เครื่องควบคุมความดัน และการไหลเวียนของอากาศ ตามคำแนะนำของผู้ผลิต

การทำความสะอาดหน้ากาก (Facepieces)

  1. ถอดส่วนกรองอากาศ เช่น ตลับ หรือกระป๋องบรรจุสารเคมีออกจากตัวหน้ากาก นำหน้ากากไปล้างด้วยน้ำอุ่น และสบู่ โดยใช้แปรงนิ่ม ๆ ขัดเบา ๆ
  2. นำไปฆ่าเชื้อโรค โดยจุ่มลงในสารละลายไฮโปคลอไรท์ 2 นาที แล้วตามด้วยน้ำสะอาด ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง
  3. ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าที่ และตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อนเก็บ โดยเก็บในที่สะอาด ไม่ปนเปื้อนฝุ่นสารเคมี หรือถูกแสงแดด


สิ่งสำคัญสำหรับการใช้งานหน้ากากทุกประเภท คือ การใส่หน้ากากได้อย่างมิดชิดพอดี เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สิ่งปนเปื้อนจะไม่รั่วไหลเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจผ่านทางช่องโหว่ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้การใช้งานหน้ากากบางประเภทอาจมีข้อจำกัดบางประการ เช่น กลุ่มหน้ากากขนาดเล็กไม่เหมาะกับผู้สวมใส่ที่มีหนวดเคราเนื่องจากอาจก่อให้เกิดช่องว่างทำให้สิ่งปนเปื้อนหลุดรอดได้

>>สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย<<