รู้จักกับ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องปั่นไฟ ประโยชน์และการทำงานเป็นอย่างไร?

เมื่อเกิดเหตุขัดข้องทางไฟฟ้า หรือในส่วนที่ไม่มีการติดตั้งไฟฟ้า อาจจะต้องมีการสำรองไฟไว้ จึงต้องมี เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือเรียกง่าย ๆ กันว่า “เครื่องปั่นไฟ” ไว้ใช้งาน

ในบทความนี้ KACHA จะบอกถึงการทำงานของเครื่องปั่นไฟ หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ว่าช้ทำอะไร? ทำไมถึงจำเป็นต้องใช้เครื่องปั่นไฟกัน?

เครื่องปั่นไฟ คืออะไร?

เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนพลังงานกลให้กลายมาเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยใช้หลักการของไมเคิล ฟาราเดย์ ซึ่งก็คือการเหนี่ยวนำแม่เหล็ก โดยหลักการคือ เมื่อมีการเคลื่อนที่ของขดลวดตัวนำผ่านสนามแม่เหล็ก หรือมีการเคลื่อนที่ของแม่เหล็กผ่านขดลวดตัวนำ จะทำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าเหนี่ยวนำขึ้น ในประเทศไทย ตามต่างจังหวัดต่าง ๆ มักจะเรียกเครื่องปั่นไฟ หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าว่า ไดปั่นไฟ นั่นเอง

เครื่องปั่นไฟ-เครื่องกำเนิดไฟฟ้า-02

เครื่องปั่นไฟหรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ

  1. ชนิดกระแสตรง (Dynamo)
  2. ชนิดกระแสสลับ (Alternator)

ชนิดของเครื่องปั่นไฟหรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่นิยมใช้ในงานเชิงอุตสาหรรม เช่น โรงงานอุตสาหกรรม, โรงแรม, อาคารสูง คือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดกระแสสลับ โดยมีแยกย่อยออกมาอีกเป็นแบบ 1 เฟส และ 3 เฟส แต่โดยทั่วไปแล้ว มักจะนิยมใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ 3 เฟสมากกว่า เนื่องจากสามารถผลิตและจ่ายกำลังไฟฟ้าได้เป็น 3 เท่าของเครื่องปั่นไฟแบบ 1 เฟส

ซึ่งทุกส่วนจะถูกนำมาประกอบร่วมเป็นชุดเดียวกัน โดยที่จะมีชุดควบคุมเป็นตัวสั่งการเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์สำหรับเลือกแหล่งจ่ายไฟหรือที่เรียกว่า ATS (Automatic Transfer Switch) ว่าจะให้สับไปรับไฟจากส่วนไหน ระหว่างหม้อแปลงการไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั่นเอง

ขนาดเครื่องปั่นไฟ มีแบบไหนบ้าง?

เราสามารถแบ่งเครื่องปั่นไฟตามการใช้งานได้ 2 ขนาด คือ

  • ขนาด เล็ก-กลาง เครื่องปั่นไฟขนาดนี้ นิยมนำไปใช้ในครัวเรือน ตามไซต์งานก่อสร้างขนาดเล็ก รวมถึงนำไปใช้กับงานเชื่อมโลหะ โดยเครื่องปั่นไฟขนาดเล็กนั้น มีกำลังผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 1-20 KVA ส่วนขนาดกลาง มีกำลังผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 20-50 KVA
  • ขนาดใหญ่ เครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่ นิยมนำไปใช้ตามงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ในโรงงาน โรงแรม ในอาคารสูง เครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่ มีกำลังผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 50-100KVA ขึ้นไป
เครื่องปั่นไฟ-เครื่องกำเนิดไฟฟ้า-03

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดพิเศษที่เรียกว่า ไดออกซ์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า และเชื่อมโลหะได้ไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย

ประโยชน์ของเครื่องปั่นไฟ

  • จุดประสงค์หลักของเครื่องปั่นไฟ

เพื่อการผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะ ซึ่งเหมาะเป็นอย่างมากในการนำไปใช้กับพื้นที่ต่างจังหวัดที่ห่างไกล และมีปัญหาเรื่องของไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง แต่ถ้ามีเครื่องปั่นไฟ คนในพื้นที่นั้น ๆ จะสามารถใช้ไฟฟ้าได้ทันที แต่ในปัจจุบันนี้อาจจะได้เห็นการใช้งานเครื่องปั่นไฟน้อยลงแล้ว เพราะมีการสนับสนุนให้ติดตั้งโซล่าเซลล์แทน ถ้าหากสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากและขายให้กับโรงไฟฟ้าได้อีกด้วย

  • วัตถุดิบหลักที่นำมาใช้กับเครื่องปั่นไฟ

ในอดีต คือ น้ำมัน พลังงานชนิดหนึ่งที่มีต้นทุนสูงมาก และมีราคาผันผวนอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ต้องมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบของเครื่องปั่นไฟให้สามารถใช้พลังงานจากอย่างอื่นได้มากยิ่งขึ้น เช่น พลังงานจากแก๊สธรรมชาติ, พลังงานน้ำ, พลังงานลม เป็นต้น

  • การติดตั้งเครื่องปั่นไฟตามที่ต่าง ๆ

เพื่อไว้ใช้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำรอง ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น เช่น ไฟดับ, รถชนเสาไฟฟ้า, ฝนตกหนักพายุเข้า จนเป็นเหตุให้ไฟฟ้าไม่สามารถใช้งานได้ การติดตั้งเครื่องปั่นไฟเพื่อให้มีพลังงานสำรอง จะช่วยยืดเวลาในการเตรียมตัวปิดเครื่องจักร หรือกระทำการใด ๆ เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

ด้วยสาเหตุนี้ จึงไม่ได้มีแค่โรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่มีการติดตั้งเครื่องปั่นไฟ ตามโรงพยาบาลที่ต้องมีการแช่วัคซีนไว้ในตู้แช่ตลอด รวมถึงสถานีวิทยุ และโทรทัศน์ รวมถึงองค์กรอื่น ๆ ก็ได้เลือกติดตั้ง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ในขนาดที่เหมาะสมแล้ว ถึงแม้ว่าบางคนจะมองว่าเป็นการซื้อมาแบบเสียเปล่า เสียเงินไปโดยฟรี ๆ ถือเป็นการคุ้มครองความเสียหายได้ระดับหนึ่ง ซึ่งมูลค่าของความเสียหายนั้น อาจจะมากกว่าราคาของเครื่องปั่นไฟหลายเท่าตัว

การดูแลเครื่องปั่นไฟ

1. เพื่อให้การทำงานของเครื่องปั่นไฟมีประสิทธิภาพมากที่สุดแล้ว วิธีการบำรุงรักษาเครื่องปั่นไฟอย่างถูกวิธี จึงมีความสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว ที่จะทำให้เครื่องปั่นไฟของคุณมีอายุการใช้งานที่ยืนยาวและคุ้มค่ามากที่สุด

ก่อนการตรวจสอบและดูแลรักษาเครื่องปั่นไฟของคุณทุกครั้ง คุณจะต้องทำการปิดสวิตซ์ไฟและปิดระบบการจ่ายไฟของเครื่องปั่นไฟก่อนเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากเครื่องยนต์ ซึ่งอาจจะทำให้เครื่องยนต์สตาร์ทติดเองขณะทำการตรวจเช็คได้

2. ในทุกการใช้งานตลอดระยะเวลา 20 ชั่วโมงของการใช้งานเครื่องปั่นไฟ จะต้องตรวจสอบและดูแลรักษาเครื่องปั่นไฟ ดังนี้

  • ตรวจสอบระดับน้ำมันหล่อลื่นของเครื่องยนต์ โดยระดับน้ำมันหล่อลื่นของเครื่องปั่นไฟที่เหลือ จะต้องไม่มีตะกอนหรือคราบดำปรากฏให้เห็น และจะต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องยนต์ทุกครั้งก่อนการใช้งาน เพื่อเป็นการบำรุงรักษาสภาพเครื่องยนต์ภายในให้มีสภาพดีอยู่เสมอ
  • ทำความสะอาดหม้อน้ำกลั่นในเครื่องปั่นไฟ โดยการใช้ผ้าแห้งเช็ด และทำการตรวจสอบสภาพน้ำกลั่น ซึ่งจะต้องมีความใสบริสุทธิ์ ไม่มีตะกอนหรือเปลี่ยนสี
  • หลังจากการใช้งานทุกครั้ง ในบริเวณสายไฟหรือขั้วต่อในเครื่องปั่นไฟ จะต้องทำการหมุนขั้วสายไฟให้แน่น และใช้ผ้าแห้งเช็ดทำความสะอาดอยู่เสมอ
  • สายพานของเครื่องปั่นไฟ ควรใส่น้ำมันหล่อลื่นทุกครั้งหลังการใช้งาน และควรเปลี่ยนสายยางทันทีหากสายยางชำรุดเสียหาย

3. ในส่วนของหม้อน้ำรังผึ้งด้านนอกของเครื่องปั่นไฟหลังจากการใช้งาน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆเช็ดทำความสะอาดทุกครั้ง เพื่อเป็นการลดอุณหภูมิและป้องกันฝุ่นละออง

4. ในทุก ๆ 3 เดือน หรือการใช้งาน 250 ชั่วโมง จะต้องมีวิธีการดูแลรักษาเครื่องปั่นไฟ ดังนี้

  • ทำการถ่ายน้ำมันหล่อลื่นของเครื่องปั่นไฟ
  • เปลี่ยนไส้กรองของน้ำมันหล่อลื่นในเครื่องปั่นไฟ
  • ตรวจสอบท่อสายยางและเหล็กรัดท่อในเครื่องปั่นไฟหากชำรุดให้ทำการเปลี่ยนทันที
  • ตรวจสอบสภาพน๊อตของเครื่องปั่นไฟให้หนาแน่นอยู่เสมอ หากชำรุดให้ทำการเปลี่ยนทันที

5. ในทุก ๆ 6 เดือน หรือการใช้งาน 500 ชั่วโมง จะต้องมีวิธีการดูแลรักษาเครื่องปั่นไฟ ดังนี้

  • ทำการเปลี่ยนไส้กรองเชื้อเพลิงของเครื่องปั่นไฟ
  • ทำการเปลี่ยนไส้กรองอากาศของเครื่องปั่นไฟ
เครื่องปั่นไฟ-เครื่องกำเนิดไฟฟ้า-04

ข้อควรระวังในการใช้งานเครื่องปั่นไฟ

  1. ก่อนจะตรวจเช็คอุปกรณ์ใด ๆ ของเครื่องปั่นไฟ ถ้าระบบของเครื่องปั่นไฟเป็นแบบจ่ายกระแสอัตโนมัติ ให้ปรับไปที่ตําแหน่ง OFF หรือปลดขั้วสายแบตเตอรี่ออกเสียก่อน เพื่อป้องกนการเกิดอุบัติเหตุจากเครื่องยนต์สตาร์ทเองขณะทําการตรวจเช็ค
  2. ห้ามเปิดฝาหม้อน้ำในขณะที่เครื่องยนต์ยังร้อนอยู่
  3. ไม่จ่ายกระแสเกินกำลังของเครื่องปั่นไฟ
  4. ไม่ควรปรับอุปกรณ์ใดๆ ขณะจ่ายกระแสไฟฟ้า ถ้ามีความผิดปกติใด ๆ ให้งดจ่าย Load แล้วจึงทำการแก้ไข
  5. ไม่ควรทิ้งเครื่องยนต์โดยไม่มีผู้ดูแลขณะเครื่องกำลังทำงานอยู่
  6. ไม่ควรเปิด-ปิดเบรกเกอร์สำหรับจ่าย Load บ่อย ๆ โดยไม่จำเป็น
  7. สถานที่ติดตั้งเครื่องปั่นไฟ ต้องมีการระบายอากาศเป็นอย่างดีและไม่ควรมีฝุ่นละออง ไม่เป็นสถานที่เก็บสารเคมีหรือวัตถุไวไฟอื่น ๆ นอกจากน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์เท่านั้น
  8. ขณะจ่าย Load ควรตรวจสอบกระแสไฟฟ้า แรงดันไฟฟ้า ความถี่ทางไฟฟ้าอยู่เสมอ
  9. ขณะจ่าย Load ควรตรวจสอบแรงดันน้ำมันเครื่องและอุณหภูมิของเครื่องยนต์
  10. ในการติดตั้งเครื่องปั่นไฟ จำเป็นต้องเดินสายดินโดยต่อกับแท่งทองแดง หรือ Ground Rod ที่ฝังอยู่ใต้ดินตามมาตรฐานกำหนด ทั้งนี้ต้องต่อตัวเครื่องยนต์และตู้ควบคุม

บทความดี ๆ น่าอ่าน:

KACHA ผู้จัดจำหน่าย รอกโซ่ รอกโซ่มือสาว เครนยกของ และอุปกรณ์เสริมสำหรับงานช่าง ต่าง ๆ ราคาจับต้องได้ สินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจ นอกจากนี้ บริษัทของเรา ยังมีบริการรับ สร้างโกดัง สร้างโรงงาน สร้างคลังสินค้าต่าง ๆ จากช่างมืออาชีพที่มีประสบการณ์ การันตีผ่านมาตรฐานก่อสร้าง และความปลอดภัยต่าง ๆ เข้าชมเว็บไซต์ www.kacha.co.th