หลาย ๆ คนอาจจะรู้จักกับ “เวอร์เนีย” กันบ้างแล้ว เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดขนาดได้หลากหลายรูปแบบ และมีสเกล (Scale) วัดที่ค่อนข้างละเอียด ปัจจุบันมีให้เลือกทั้งแบบดิจิทัล และแบบอนาล็อก บทความนี้ KACHA จะพาไปรู้จักกับ เวอร์เนีย คาลิปเปอร์ และวิธีการนำไปใช้งาน และการอ่านค่า เพื่อให้ทุกคนใช้งานได้อย่างไร้ปัญหา

เวอร์เนียคืออะไร?

เวอร์เนียคาลิปเปอร์ (Vernier Caliper) เป็นเครื่องมือวัดชิ้นงานละเอียดแบบมีสเกล และสามารถเลื่อนได้ นิยมใช้กันมากในงานอุตสหกรรม มีลักษณะคล้ายปากประแจเลื่อน หรือก้ามปู ที่มีด้ามจับเป็นไม้บรรทัดยื่นออกมา สามารถวัดงานได้หลายลักษณะ เช่น วัดขนาดภายนอก วัดขนาดความภายใน วัดความสูง หรือความต่างระดับ และวัดขนาดความลึกของชิ้นงานได้

เวอร์เนียสามารถวัดค่าออกมาเป็นมิลลิเมตร (มม.) มีขนาดตั้งแต่ 0.50 มิลลิเมตร สามารถวัดค่าออกมาเป็นมิลลิเมตรได้ทศนิยมถึง 2 ตำแหน่ง ทำให้เกิดความคาดเคลื่อนได้น้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับ เครื่องมือวัดชนิดอื่น ๆ

ส่วนประกอบของเวอร์เนีย

หน้าตาของเวอร์เนียคาลิปเปอร์ คล้าย ๆ ไม้บรรทัดวัดทั่วไป แต่มีความแตกต่างที่หัววัด สามารถปรับเลื่อนได้ ตามขนาดของวัตถุ ทั้งด้านใน และด้านนอก ซึ่งค่าที่อ่านได้จะปรากฏบนสเกล แบ่งส่วนประกอบของเวอร์เนีย ได้ดังนี้

  • ปากวัดภายนอก ใช้วัดขนาดของวัตถุจากภายนอก ใช้วัดความยาว ความหนาของวัตถุ 
  • ปากวัดภายใน ใช้วัดขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางภายในของวัตถุ
  • ปากวัดความลึก เป็นส่วนที่ติดอยู่กับด้านหลังของตัวเลื่อน ใช้ในการวัดความลึกของวัตถุ เพื่อหาค่าความลึก หรือส่วนที่อยู่ลึกบนวัตถุได้ 
  • สเกลหลัก สเกลหลัก เป็นขีดสเกลที่อยู่บนตัวเวอร์เนียร์ มีทั้ง 2 ระบบ คือ ระบบเมตริก และระบบอังกฤษ จะแสดงค่าที่เป็นหน่วยแบบ นิ้ว ด้านบน และแบบ มิลลิเมตร ด้านล่าง ซึ่งแต่ละขีดบนระบบเมตริก จะมีค่าเป็นมิลลิเมตร
  • สเกลเลื่อน เป็นสเกลที่ช่วยในการอ่านค่า ให้ละเอียดยิ้งขึ้น
  • สเกลยึด ใช้ล็อกปากวัดในตำแหน่งที่ต้องการ

วิธีอ่านค่าบนเวอร์เนีย

  • หาความละเอียดของเวอร์เนียอันนั้นเป็นอันดับแรก โดยหาว่า แต่ละช่องบนสเกลหลัก ห่างกันเท่าใด ในหน่วยใด
  • นำเวอร์เนียไปวัดวัตถุที่ต้องการ เลื่อนจนสเกลเวอร์เนียชิดวัตถุ อ่านความยาวของวัตถุ จากสเกลหลัก สังเกตได้จาก ขีดศูนย์ของสเกลเวอร์เนียเลยขีดศูนย์สเกลหลักมากี่ช่อง จากนั้น หาเศษความยาวที่เกินไปอีกเล็กน้อย และขีดเท่าไรของสเกลเวอร์เนียตรงกับขีดบน สเกลหลัก นำจำนวนขีดคูณกับกับความละเอียดของเวอร์เนีย ที่หามาแล้วตามข้อ 1  หาทั้ง 2 ครั้งบวกกัน จะได้เป็นความยาวของวัตถุ

ประเภทของเวอร์เนีย มีอะไรบ้าง?

  • เวอร์เนียคาลิเปอร์

มีลักษณะเป็นก้ามปู ข้างหนึ่งติดไม้บรรทัดยาว อีกข้างติดไม้บรรทัดอันเล็ก ที่เลื่อนได้ มีขีดวัดที่เยื้องกันตามที่กำหนด การวัดใช้วิธีถ่างเวอร์เนียออก แล้วปรับให้ตรงกับขนาดสิ่งที่ต้องการวัด ลงสลักยึด แล้วจึงยกออกมาอ่านค่า โดยดูว่า เส้นบนไม้บรรทัดรองเส้นใด ตรงกับเส้นที่อยู่บนไม้บรรทัดหลัก ให้ถือเส้นนั้นเป็นทศนิยมตัวท้ายสุด ที่จะนำมาต่อกับค่าที่วัดได้จากไม้บรรทัดหลัก มีจำหน่ายตามท้องตลาด มีทั้งมาตราเมตริก และมาตราอังกฤษไว้ด้วยกัน

210617-Content-เวอร์เนีย-คาลิปเปอร์04
  • เวอร์เนียวัดลึก

ใช้วัดความลึกของรูเจาะ ความลึกของบ่างาน ร่อง ลึกต่างระดับ สามารถอ่านค่าจากสเกลได้เช่นเดียวกับ การใช้เวอร์เนียคาลิปเปอร์ จะแตกต่างกันที่ การวัดสเกลหลัก จะเป็นตัวเคลื่อนที่ ส่วนสเกลเลื่อน จะอยู่กับที่ สามารถอ่านค่าได้อย่างถูกต้องแม่นยำด้วย

  • เวอร์เนียไฮเกจ

ใช้วัดตรวจสอบความสูง ขีดขนาดความสูงของงานได้ถูกต้องแม่นยำ ใช้ขีดร่างแบบ (Lay out) ตามขนาดแบบงาน เนื่องจาก เวอร์เนียร์ไฮเกจ มีหลักการแบ่งสเกลเช่นเดียวกับเวอร์เนียคาลิปเปอร์

ข้อควรระวังในการใช้เวอร์เนีย

  • ต้องทำความสะอาด และลบคมชิ้นงานก่อนใช้เครื่องมือวัดทุกครั้ง
  • ตรวจสอบความสมบูรณ์ของปากเวอร์เนียร์ ก่อนวัดทุกครั้ง
  • อย่าวัดชิ้นงาน ขณะที่ชิ้นงาน กำลังหมุนอยู่
  • อย่าวัดชิ้นงาน ขณะที่ชิ้นงาน ยังร้อนอยู่
  • อย่าเลื่อน หรือลากปากวัดไป-มา บนชิ้นงาน จะทำให้ปากเวอร์เนียร์สึกได้
  • อย่าใช้ปากวัดนอก หรือปากวัดใน ขีดขนาดงาน เวลาร่างแบบ หรือขณะวัดงาน

วิธีการเก็บรักษาเวอร์เนีย

  • วางเวอร์เนียร์ คาลิปเปอร์ ไว้บนผ้า หรือแผ่นไม้
  • อย่าเก็บเวอร์เนียร์ คาลิปเปอร์ ในที่ร้อนจัด หรือเย็นจัดเกินไป
  • ถ้าปากวัดนอก หรือปากวัดในเย็น ให้ขัดด้วยหินน้ำมันด้านละเอียด
  • ทำความสะอาด และทาน้ำมันกันสนิมทุกครั้ง หลังการใช้งาน
  • แยกเก็บเวอร์เนียร์ไว้ต่างหาก ห้ามวางปนกับเครื่องมือมีคม
  • ไม่ควรนำเวอร์เนียร์ใส่กระเป๋าหลังของกางเกง อาจทำให้คองอได้

จบไปแล้วกับความรู้ เรื่องเวอร์เนีย เรียกได้ว่า เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายมาก ๆ ในปัจจุบัน จุดเด่น คือ การวัดขนาดอย่างละเอียด เพื่อนำค่าจากการวัดมาใช้ประโยชน์ต่อได้ หวังว่าในบทความนี้ จะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับเวอร์เนีย และวิธีการใช้งานเวอร์เนียกันไม่มากก็น้อย

สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย

อ้างอิงข้อมูลจาก sa-thai.com, www.sumipol.com, th.misumi-ec.com, qcalibration.com