ไขข้อสงสัย “ยางพารา” ยางธรรมชาติในงานก่อสร้าง มีอะไรบ้าง?

อย่างที่รู้กันว่า ยางพารา หรือ ยางธรรมชาติ เป็นยางที่มีความแข็งแรง ความทนทาน ยากที่จะหายางชนิดใดในโลกมาเปรียบเทียบได้ ถึงแม้ว่ายางธรรมชาติจะขาดคุณสมบัติบางประการในการทนต่อสภาพการใช้งาน เมื่อเทียบกับยางสังเคราะห์ เช่น การทนต่อโอโซนในอากาศ แต่ยางธรรมชาติก็ยังคงได้รับการคัดเลือกไปใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางหลากหลายชนิด ทั้งที่ผลิตจากยางพาราล้วน หรือยางธรรมชาติ ผสมกับ ยางสังเคราะห์ โดยมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมยางล้อ, อุตสาหกรรมชิ้นส่วน, อุตสาหกรรมการผลิต, อุตสาหกรรมการก่อสร้าง เป็นต้น

สำหรับงานอุตสาหกรรมการก่อสร้าง มีการใช้ผลิตภัณฑ์ยางในปริมาณมากพอสมควร ถึงแม้ว่าจะไม่มากเท่ากับการใช้ยางในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ แต่อุตสาหกรรมการก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องอุตสาหกรรมหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีการก่อสร้างในโครงสร้างพื้นนฐานเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ยางในอุตสาหกรรมประเภทนี้จึงเป็นที่น่าสนใจที่ควรให้ความสำคัญ วันนี้ KACHA จะพาไม่หาคำตอบเพิ่มเติมว่า ยางพารานั้น ใช้ทำอะไรได้บ้าง? 

การใช้ ยางพารา ในงานอุตสาหกรรมก่อสร้าง มีอะไรบ้าง?

ผลิตภัณฑ์ยางพารา หรือยางธรรมชาติ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ส่วนมากจะมีการผลิตภายในประเทศแล้ว อาจมีการใช้ ยางสังเคราะห์ ผสมบ้างในบางผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ได้แก่

➤ ยางรองคอสะพาน

ยางรองคอสะพานเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นแผ่น หรือก้อนสี่เหลี่ยม ทำจากยางใช้ติดตั้งบนตอม่อสะพานเพื่อรองรับน้ำหนักโครงสร้างส่วนบนของสะพานซึ่งทาจากคอนกรีตเสริมเหล็ก และน้ำหนักบรรทุกของยานพาหนะที่แล่นผ่านสะพาน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้น้ำหนัก และแรงกระแทก หรือแรงสั่นสะเทือนจาก
โครงสร้างส่วนบนไปสร้างความเสียหายกับโครงสร้างส่วนล่างของสะพาน และมีส่วนช่วยลดปัญหาของการยืดตัว หดตัวของโครงสร้างส่วนบน อันเนื่องมาจากอุณหภูมิ ตลอดจนลดปัญหาการสั่นไหวอัน เนื่องมาจากแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหวด้วย

ยางรองคอสะพานแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ แบบยางล้วน และ แบบยางเสริมแผ่นเหล็ก สามารถผลิตได้จากยางธรรมชาติ หรือ ยางสังเคราะห์ โดยจะมีขนาดแตกต่างกันไป ตามแต่การออกแบบสะพาน และการรับน้ำหนักแบบยาง ล้วนจะมีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมทำจากยางล้วน ส่วนแบบยางเสริมแผ่นเหล็ก มีลักษณะ เป็นก้อนสี่เหลี่ยมเช่นกัน แต่มีแผ่นเหล็กสี่เหลี่ยมบาง ๆ จำนวนหลายชั้นเสริมอยู่ภายใน โดยจะถูกวางให้มีระยะห่างเท่า ๆ กัน และจะมีความสามารถในการรับน้ำหนักได้มากกว่าแบบยางล้วน ปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรฐานยางรองคอสะพานตาม มอก. 951-2533

210407-การใช้-ยางพาราหรือยางธรรมชาติ-ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง02-edit

แผ่นยางกันน้ำซึม

แผ่นยางกันน้ำซึมนั้น เป็นผลิตภัณฑ์มีลักษณะเป็นเส้นยาว ใช้ในการป้องกัน การซึมผ่านของน้ำระหว่างรอยต่อคอนกรีต เช่น คานกับพื้น หรือผนัง, พื้นกับพื้น, พื้นกับผนัง เป็นต้น โดยแผ่นยางกันซึมจะถูกวางระหว่างรอยต่อคอนกรีต 2 ส่วน ป้องกันน้ำซึมผ่านรอยร้าว อันเนื่องมาจากการสั่นสะเทือน หรือการยุบตัวของคอนกรีต จะเห็นการใช้งานแผ่นยางกันซึมได้จากงานก่อสร้างทั่วไป เช่น ถนน, คานสะพานอาคารใต้ดิน, บ่อน้ำใต้ดิน, เขื่อน เป็นต้น

แผ่นยางกันน้ำซึม มีหลายรูปแบบ และขนาดขึ้นอยู่กับงานที่จะนำไปใช้ ได้แก่ แบบดัมเบลล์, แบบกระเปาะตรงกลาง, แบบตัวเจ เป็นต้น ส่วนขนาดมีตั้งแต่ ความกว้าง 4-12 นิ้ว ความยาวต่อม้วน ประมาณ 15-30 เมตร ส่วนมากทำจากยางธรรมชาติ

➤ ยางกันกระแทก

ยางกันกระแทกเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องป้องกันการเฉี่ยวชน หรือการกระแทกโดยตรงจากการวิ่งผ่าน หรือเข้าจอดเทียบท่าของเรือ และรถ เป็นการช่วยป้องกัน หรือลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งปลูกสร้าง หรือยวดยานที่มาชน หรือกระแทกได้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจจะถูกออกแบบ และผลิตเพื่อใช้ติดตั้งบริเวณต่าง ๆ ของสิ่งปลูกสร้าง เช่น ท่าเทียบเรือ, ชานชาลา, ท่าจอดรถ,  บริเวณรอบเสาและกำแพงของลานจอดรถ, อาคารโรงงานสำนักงาน, ราวสะพาน เป็นต้น

หรืออาจจะออกแบบสำหรับติดตั้งกับส่วนใดส่วนหนึ่งของยวดยาน เช่น บริเวณหัวเรือ, ข้างเรือ และท้ายเรือ ลักษณะพิเศษของการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ คือ เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบสำหรับการติดตั้งภายหลัง จึงสามารถใช้ได้กับทั้งสิ่งก่อสร้างที่ปลูกขึ้นใหม่ ทั้งสิ่งปลูกสร้างเก่าที่มีการก่อสร้างมาก่อนหน้านี้แล้วก็ได้

ยางกันกระแทก มีรูปแบบ และขนาดแตกต่างกันออกไป ตามลักษณะและประเภทของการใช้งาน ส่วนมากผลิตจากยางธรรมชาติ รูปแบบต่าง ๆ ของยางกันกระแทกได้แก่ ยางกันกระแทกรูปตัว D, ยางกันกระแทกรูปตัว V, ยางกันกระแทกรูปทรงกระบอก, ยางกันกระแทกแบบสี่เหลี่ยม และยางกันกระแทกแบบกรวย

210407-การใช้-ยางพาราหรือยางธรรมชาติ-ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง03

➤ แผ่นยางเชื่อมรอยต่อสะพาน

แผ่นยางเชื่อมรอยต่อสะพาน เป็นแผ่นยางที่ผลิตขึ้นโดยการออกแบบเป็นพิเศษ เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์เชื่อม หรือประสานรอยต่อของพื้นสะพาน ที่เป็นช่วงของการเชื่อมโครงสร้างส่วนคานของสะพานเข้ากับตอม่อในแต่ละช่วงที่มีช่องว่างอยู่ แผ่นยางเชื่อมรอยต่อสะพาน มีหน้าที่ลดปัญหาการยืดตัวหดตัวของพื้นสะพานคอนกรีต อันเนื่องมาจากอุณหภูมิ สามารถช่วยป้องกันการเสียดสีระหว่างพื้นคอนกรีตและยังช่วยให้พื้นตรงบริเวณรอยต่อมีความราบเรียบอีกด้วย จึงเหมาะสำหรับการใช้เป็นอุปกรณ์เชื่อมรอยต่อของสะพาน, ทางด่วน และทางยกระดับ

แผ่นยางเชื่อมรอยต่อสะพาน ส่วนมากผลิตจากยางสังเคราะห์ เนื่องจากต้องถูกใช้งานภายใต้อากาศร้อน และโอโซนตลอดเวลา มีหลายขนาดขึ้นอยู่กับการออกแบบขนาดสะพาน

➤ ปะเก็นยาง

ปะเก็นยางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ป้องกันการไหลซึมของน้ำหรือของเหลวอื่น ๆ เช่น น้ำมัน หรือสารเคมีระหว่างรอยต่อของผิวสัมผัส 2 พื้นผิว ใช้ติดตั้งบริเวณรอยเชื่อมต่อของท่อที่ใช้สำหรับระบบสั่งจ่าย ลำเลียงน้ำ หรือของเหลวอื่น เช่น ท่อส่งน้ำ, ท่อร้อยท่อสายเคเบิลใต้น้ำ หรือสายไฟฟ้า เป็นต้น

ปะเก็นยางมักจะถูกผลิตในรูปแบบม้วนที่ความหนาต่าง ๆ กัน เมื่อจะนำไปใช้งานจะนำม้วนยางมาตัดเป็นรูปแบบต่าง ๆ ตามการใช้งาน ส่วนมากปะเก็นยางทำจากยางพารา หรือยางธรรมชาติ นั่นเอง

➤ ยางปูพื้น

ยางปูพื้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบสำหรับใช้ปูพื้น เพื่อเป็นการป้องกันการชำรุดเสียหายของพื้น และเพื่อเพิ่มความเสียดทานระหว่างพื้นและรองเท้าป้องกันการลื่นไถล อีกทั้งยังเป็นการลดแรงกระแทกระหว่างการเดิน ทำให้ลดอาการบาดเจ็บได้ หรือช่วยป้องกันการบาดเจ็บ อันเนื่องมาจากการลื่น หกล้ม
จากการทำกิจการต่าง ๆ การใช้ยางปูพื้นมีทั้งการใช้ในอาคาร และนอกอาคาร เช่น บริเวณทางเดินเท้า, สนามกีฬา, สนามเด็กเล่น, สวนสนุก, สถานรับเลี้ยงเด็ก, รอบสระว่ายน้ำ หรือแม้แต่บริเวณระเบียงและห้องนั่งเล่น

ยางปูพื้นส่วนมากผลิตจากยางพารา หรือยางธรรมชาติ สามารถทำได้หลายสี มีทั้งเป็นแบบแผ่นหรือบล็อก มีขนาดต่าง ๆ กัน ขึ้นกับการออกแบบ ยางปูพื้นแบบเป็นบล็อก บางครั้งเรียกว่า บล็อกปูพื้น มีลักษณะเหมือนบล็อกคอนกรีต แต่มีคุณสมบัติเหนือกว่าบล็อกคอนกรีตหลายประการ เช่น มีน้ำหนักเบา, พื้นผิวอ่อนนุ่ม, มีความยืดหยุ่นและสปิงตัวได้ดี, ไม่ระคาย หรือทำให้เป็นแผลถลอกเวลาลื่นหกล้ม, ไม่มีเสียงดังเวลาเดิน หรือเมื่อมีวัตถุอื่นตกกระทบ

➤ ท่อยาง

ท่อยางในที่นี้ หมายถึง ท่อยางขนาดใหญ่ ที่ใช้เป็นท่อดูด และท่อส่ง และข้อต่อท่อกันสะเทือน (Expansion Joint) ซึ่งนับว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญในงานก่อสร้างและงานส่งลำเลียงของเหลวผ่านท่อ ใช้สำหรับงานติดตั้งท่อส่งน้ำ, สูบน้ำ, ระบายน้ำทิ้ง ที่ติดถาวรกับอาคารโรงงานหรือสำนักงาน, ทางยกระดับ, สะพานลอย หรือใช้เป็นข้อต่อของท่อประเภทอื่น ๆ ที่ต้องการให้ช่วงข้อต่อนั้นมีความยืดหยุ่นหรือเคลื่อนตัวได้ระดับหนึ่ง หรือใช้เป็นอุปกรณ์ที่เคลื่อนย้ายไปใช้งานในที่ต่าง ๆ ได้เช่น ท่อยางสำหรับสูบน้ำท่อดับเพลิง, ท่อส่งปูน เป็นต้น

ท่อยางมีทั้งประเภทที่ผลิตจากยางธรรมชาติ และ ยางสังเคราะห์ ถ้าใช้ส่งน้ำหรือสินแร่ ก็สามารถใช้ยางธรรมชาติได้ หากต้องการใช้ขนส่งน้ำมัน หรือสารเคมี อาจจำเป็นต้องใช้ยางสังเคราะห์ ท่อยางสามารถผลิตได้หลายขนาด ตามความดันใช้งานที่ออกแบบ

210407-การใช้-ยางพาราหรือยางธรรมชาติ-ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง05

➤ ยางพาราที่ใช้ผสมกับยางมะตอยเพื่อราดถนน

การราดถนนด้วยยางมะตอยเพื่อเป็นพื้นผิวจราจรนั้นได้มีการปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในประเทศที่มีอากาศร้อน ยางมะตอยมักจะเหลวค่อนข้างง่าย ทำให้มีการไหลของยางมะตอยเกิดขึ้น ส่งผลให้ถนนเสียรูป หรือชำรุดได้ เมื่อมีน้ำหนักยานพาหนะมากดทับ บางประเทศอาจกาศหนาว หิมมะตก อาจจะเข้าไปกัดเซาะบนพื้นผิวถนน อาจจะทำให้ยางมะตอยแตกได้เช่นกัน ปัญหาเหล่านี้สามารถลดลงได้ ถ้านำยางพารา หรือยางธรรมชาติไปผสมกับยางมะตอย โดยยางจะไปช่วยลดการไหลของยางมะตอยเมื่ออากาศร้อน และจะช่วยรับแรงที่เกิดจากการขยายตัวของน้ำแข็งในรูพรุนของยางมะตอยได้

ปัจจุบันประเทศที่มีการใช้ยางผสมในยางมะตอยในการราดถนนแล้ว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และ แคนาดา ยางที่สามารถนำไปผสมกับยางมะตอยได้นั้น ได้แก่ ยางธรรมชาติในรูปของน้ำยาง หรือยางแข็ง ที่มีลักษณะเป็นเม็ดหรือผง หากเป็นยางเม็ดหรือผงยาง มักจะใช้ยางมาผสมยางมะตอย สามารถนำไปใช้ในการทำพื้นผิวบ่อเก็บน้ำ เพื่อป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้อีกด้วย

➤ ยางขวางถนนเพื่อลดความเร็วรถ

ยางขวางถนนเพื่อลดความเร็วรถ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากยางธรรมชาติ ใช้ติดตั้งบนถนนเพื่อจุดประสงค์ในการให้ยานพาหนะลดความเร็วลงในบริเวณที่ต้องการ เช่น ใกล้แหล่งชุมชน, โรงเรียน เป็นต้น

ยางขวางถนนเพื่อลดความเร็วรถ สามารถใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ที่ใช้กันอยู่ได้เป็นอย่างดี เพราะมีการชำรุดเสียหายได้ยากกว่า และสามารถออกแบบให้มีลวดลายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเกาะถนน ตลอดจนผลิตให้มีสีสันที่สามารถสังเกตเห็นได้ในระยะไกลได้ ขนาดของยางขวางถนนเพื่อลดความเร็วรถ จะมีขนาดยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ติดตั้งบนถนน โดยใช้น็อตยึดติดเป็นแนว สามารถติดตั้งได้ง่ายและรวดเร็ว สามารถรับน้ำหนักรถได้มาก

210407-การใช้-ยางพาราหรือยางธรรมชาติ-ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง06

➤ ผลิตภัณฑ์ยางขอบ

ผลิตภัณฑ์ยางขอบมีรูปร่างหน้าตัดหลายรูปแบบ และมีลักษณะยาวเป็นเส้นต่อเนื่อง มีการใช้ยางขอบมากในงานก่อสร้างอาคาร โดยใช้เป็น ซีลขอบประตู,  ขอบหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่น น้ำ หรือแม้แต่เสียงเข้าภายในตัวอาคาร ผลิตภัณฑ์ยางขอบสามารถผลิตได้จากทั้งยางธรรมชาติ และยางสังเคราะห์

ยางสังเคราะห์ ต่างจาก ยางธรรมชาติ อย่างไร?

ยางสังเคราะห์ (Synthetic Rubber)

เป็นผลิตภัณฑ์ที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อเลียนแบบยางธรรมชาติ ซึ่งจัดว่าเป็นอิลาสโทเมอร์ หรือวัสดุยืดหยุ่นสังเคราะห์ (Artificial Elastomer) ชนิดหนึ่งที่มีสมบัติพิเศษคือ สามารถเปลี่ยนรูปภายใต้ความเค้นได้มากกว่าวัสดุชนิดอื่น และสามารถกลับคืนรูปได้เหมือนเดิมโดยไม่เกิดการเสียรูปอย่างถาวร 

ยางสังเคราะห์สามารถสังเคราะห์ได้จากปฏิกิริยาพอลิเมอไรเซชั่น (Polymerization) ของสารตั้งต้นที่เป็นผลผลิตพลอยได้จากกระบวนการกลั่นปิโตรเลียมซึ่งเรียกว่า “มอนอเมอร์ (Monomer)” ยางสังเคราะห์แต่ละชนิดจะมีการผสมมอนอเมอร์ชนิดเดียว หรือหลายชนิดในสัดส่วนที่ต่างกัน เพื่อพัฒนาให้ได้ยางสังเคราะห์ที่มีสมบัติทางกายภาพ ทางกล และทางเคมีที่แตกต่างกันตามต้องการ 

210407-การใช้-ยางพาราหรือยางธรรมชาติ-ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง07

ยางธรรมชาติ (Natural Rubber : NR)

หรือ ยางพารา นั้น เป็นผลิตผลที่ได้จากต้นยางพารา (Hevea Brasilensis) โดยการกรีดลำต้น และนำเอาของเหลวสีขาวคล้ายน้ำนม เรียกว่า น้ำยางสด หรือน้ำยางดิบ (Latex) 

น้ำยางสด หรือน้ำยางดิบ ประกอบไปด้วยพอลิเมอร์ของสารไอโซพรีน มาผ่านกระบวนการผลิตเพื่อให้เก็บไว้ได้นาน และได้น้ำยางสดเข้มข้น

น้ำยางสดที่ได้จะถูกนำมาแปรสภาพเป็น 2 ลักษณะ คือ ในรูปของน้ำยางข้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางต่าง ๆ เช่น ถุงมือยาง, อุปกรณ์ทางการแพทย์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และลูกโป่ง เป็นต้น และในอีกลักษณะหนึ่ง คือ ในรูปของยางแห้ง ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน, ยางแผ่นผึ่งแห้ง, ยางแท่ง, และยางเครพ เป็นต้น 

เห็นไหมว่า ยางพารานั้นมีประโยชน์มากมายเลยทีเดียว สามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายตามความเหมาะสมของงาน หวังว่าบทความนี้คงจะให้ข้อมูลและคุณสมบัติของยางไม่มากก็น้อย ????

>>สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย<<