อุปกรณ์เซฟตี้ หรือ PPE ในงานก่อสร้างเป็นแบบไหนกัน?

❝ เมื่อพูดถึง งานก่อสร้างในประเทศไทยได้ก้าวรุดหน้า และเพิ่มปริมาณขึ้นมาก แต่สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานในงานก่อสร้าง คือ อุบัติเหตุ ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้ง ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินอย่างประมาณค่ามิได้ ความสูญเสียจากงานก่อสร้างในปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกขณะ และมีคนงานจำนวนมากที่ยังเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากงานก่อสร้าง ดังนั้น การป้องกันอุบัติเหตุและการลดอุบัติเหตุ จึงเป็นเรื่องที่ต้องรีบเร่งและให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เพื่อลดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินที่อาจจะเกิดขึ้น ❞

ในบทความนี้ KACHA จะพาไปรู้จักกับ อุปกรณ์เซฟตี้ หรือ PPE ว่าคืออะไร? มีความสำคัญมากแค่ไหน? ในงานก่อสร้างเป็นอย่างไร? ตามไปดูกัน

อุปกรณ์เซฟตี้ หรือ PPE มีอะไรบ้าง?

อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment , PPE) อุปกรณ์เซฟตี้ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า PPE เป็นอุปกรณ์ที่มีไว้ให้ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่เป็นปราการด่านสุดท้าย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เพื่อลดความสูญเสีย หรือลดความรุนเเรงอุบัติเหตุ อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลมีหลายชนิด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของงาน และความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดกับผู้ปฏิบัติงาน ดังนี้

  • อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันใบหน้า

อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันใบหน้า หรือ หน้ากากนิรภัย เป็นอุปกรณ์สำหรับป้องกันระบบหายใจ สามารถใช้กรองอนุภาคแขวนลอยที่ปะปนอยู่ในอากาศ เช่น ฝุ่นควัน ฟูมโลหะ (อนุภาคของโลหะที่กระจายตัวอยู่ในอากาศ) ไอระเหยจากก๊าซ หรือสารเคมี เป็นต้น สำหรับโรงงานที่มีฝุ่นละอองน้อย อาจใช้เป็นหน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 แทนได้ แต่สำหรับโรงงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี สารระเหย หรือโรงงานที่พนักงานต้องเจอกับฝุ่นละอองตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ จำเป็นต้องใช้หน้ากากกันฝุ่นชนิดกรองอากาศแบบมีไส้กรอง จะมีประสิทธิภาพในการกรองสารแขวนลอยต่าง ๆ มากกว่านั่นเอง

210616-Content-อุปกรณ์เซฟตี้-หรือ-PPE-คืออะไร02
  • อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันดวงตา

อุปกรณ์เซฟตี้สำหรับป้องกันดวงตา จะช่วยให้ดวงตาของคุณปลอดภัยจากสารเคมี เศษโลหะ เศษไม้ และอื่น ๆ โดยปกติอุปกรณ์ป้องกันดวงตาแบบพื้นฐานที่ทุกโรงงานต้องมี คือ แว่นตานิรภัย ซึ่งมีหลายแบบแตกต่างกันไปตามลักษณะของงาน แว่นตานิรภัยส่วนใหญ่จะเป็นแว่นลักษณะใส่ครอบตา มีทั้งแบบทำจากพลาสติก สำหรับป้องกันการกระแทก หรือเศษวัสดุ เหมาะกับงานเจียระไน งานไม้ งานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี เป็นต้น แต่หากเป็นโรงงานที่ตัด หรือเชื่อมโลหะ ควรใช้เป็นหน้ากากเชื่อมโดยเฉพาะ จะสามารถป้องกันฝุ่น แสง รังสี และความร้อนได้ดีกว่า

  • อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันมือ

การทำงานในโรงงาน ซึ่งต้องหยิบจับอุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ถุงมือนิรภัย จึงเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์เซฟตี้ที่จำเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญ คือ ต้องเลือกถุงมือให้เหมาะสมตามลักษณะของงาน ไม่อย่างนั้นอาจทำให้หยิบจับอะไรไม่ถนัด หรือการป้องกันที่ไม่ดีพอนั่นเอง ชนิดของถุงมือนิรภัยแบ่งตามลักษณะเนื้องาน ได้ดังนี้

  1. ถุงมือใยหิน สำหรับป้องกันความร้อน หรือไฟ
  2. ถุงมือใยโลหะ สำหรับงานที่ต้องหั่น ตัด หรือจับของมีคม
  3. ถุงมือยาง สำหรับงานไฟฟ้า แต่ถ้าเป็นงานเกี่ยวกับไฟฟ้าแรงสูง ต้องสวมถุงมือหนังทับอีก 1 ชั้น
  4. ถุงมือยางไวนีล, ถุงมือยางนีโอพรีน สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี
  5. ถุงมือหนัง สำหรับงานไม้, งานโลหะ, งานขัดผิว, แกะสลัก หรืองานเชื่อมที่ไม่ได้ใช้ความร้อนสูง
  6. ถุงมือหนังเสริมใยเหล็ก สำหรับงานหลอม หรือถลุงโลหะ
  7. ถุงมือผ้า สำหรับงานทั่วไป ใช้เพื่อป้องกันสิ่งสกปรก หรือของมีคมอย่างมีด
  8. ถุงมือผ้าแบบเคลือบน้ำยา สำหรับงานที่ต้องสัมผัสสารเคมีเล็กน้อย เช่น งานบรรจุกระป๋อง หรืองานในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร
210616-Content-อุปกรณ์เซฟตี้-หรือ-PPE-คืออะไร03
  • อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันศีรษะ

ใช้สำหรับป้องกันของแข็งตกกระทบศีรษะ ส่วนใหญ่ตัวหมวกจะทำมาจากพลาสติกแข็ง โลหะ หรือไฟเบอร์กลาส (ใยแก้ว) หมวกนิรภัยนิยมใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ใช้ในงานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าแรงสูง งานบนที่สูง และงานดับเพลิง จะเห็นว่าหมวกนิรภัยตามท้องตลาดมีหลายสี ซึ่งบางครั้งในหลาย ๆ โรงงาน ก็ใช้สีของหมวกเพื่อแยกตำแหน่งหน้าที่ของบุคคลากรอีกด้วย

  • อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันเท้า

รองเท้านิรภัย อุปกรณ์เซฟตี้ที่ออกแบบมาเพื่อลดแรงกระแทก ป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับนิ้วเท้า เท้า และข้อเท้า มีหลายชนิด เลือกใช้ตามความเหมาะสมของงาน เช่น

  1. รองเท้านิรภัยแบบหัวโลหะ รับน้ำหนักตัวได้มากถึง 1,100 กิโลกรัม และทนแรงกระแทกของวัตถุที่หนักราว ๆ 20 กิโลกรัมได้เป็นอย่างดี เหมาะกับผู้ทำงานก่อสร้าง
  2. รองเท้านิรภัยแบบหุ้มข้อ ทำจากยางธรรมชาติหรือยางสังเคราะห์ ใช้เป็นฉนวนกันกระแสไฟในงานไฟฟ้า
  3. รองเท้านิรภัยป้องกันสารเคมี ทำจากไวนิล นีโอพรีน ยางธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ ที่สามารถทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมีได้ มีทั้งแบบหัวรองเท้าธรรมดา และหัวโลหะ
  4. รองเท้านิรภัยแบบหุ้มแข้ง ใช้ในงานถลุงโลหะ หลอมโลหะ และงานเชื่อมต่าง ๆ สำหรับป้องกันความร้อนจากการถลุง และป้องกันการกระเด็นของโลหะที่หลอมเหลว
  5. รองเท้านิรภัยแบบพื้นไม้ ใช้ในโรงงานที่พื้นเปียกชื้นตลอดเวลา เช่น โรงงานผลิตเบียร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ รองเท้านิรภัยจะต้องสวมใส่สะดวก และถอดออกได้ง่ายในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

  • อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันหู

อุปกรณ์เซฟตี้สำหรับป้องกันหู จะช่วยลดแรงกระแทกจากคลื่นเสียงที่อาจเป็นอันตรายกับแก้วหูและกระดูกหู เหมาะกับการใช้งานในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ใช้เครื่องเจาะปูน เป็นต้น อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันหู มี 2 แบบ คือ

  • ที่อุดหู (Ear plug) มีลักษณะเป็นจุกยางเล็ก ๆ ใช้อุดเข้าไปในรูหู ทำมาจากไฟเบอร์กลาส, ยาง, โฟม, ขี้ผึ้ง หรือฝ้าย ซึ่งที่อุดหูไฟเบอร์กลาส จะป้องกันเสียงได้ดีที่สุด ช่วยลดความดังได้ถึง 20 เดซิเบล แต่ข้อเสีย คือ แข็ง อาจทำให้ระคายเคืองได้ง่าย ส่วนที่เป็นยาง จะช่วยลดความดังได้ 15-30 เดซิเบล และแบบฝ้าย จะช่วยลดความดังได้เพียง 8 เดซิเบลเท่านั้น
210616-Content-อุปกรณ์เซฟตี้-หรือ-PPE-คืออะไร04
  • ที่ครอบหู (Ear muff) มีลักษณะคล้ายหูฟังแบบไร้สายใช้ครอบหูทั้งสองข้าง บริเวณที่ครอบหูจะมีวัสดุป้องกันเสียงอยู่ แล้วบุทับด้วยโฟม พลาสติก หรือยาง เพื่อใช้เป็นตัวดูดซับเสียงอีกชั้นหนึ่ง ช่วยลดความดังของเสียงได้มากถึง 40 เดซิเบล ที่ครอบหูบางชนิดยังออกแบบให้มีเครื่องมือสื่อสารในตัว เพื่อสะดวกในการประสานงาน โดยไม่ต้องถอดที่ครอบหูออกนั่นเอง
  • อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันการตกจากที่สูง

อุปกรณ์เซฟตี้ชิ้นนี้ เป็นตัวช่วยเพิ่มความปลอดภัยหากคุณต้องทำงานบนพื้นที่สูง เช่น งานก่อสร้าง, งานเช็ดกระจก, งานไฟฟ้า ฯลฯ เข็มขัดนิรภัยที่ได้มาตรฐาน ควรเป็นลักษณะของสายรัดลำตัว คาดยาวตั้งแต่หัวไหล่ หน้าอก เอว และช่วงขา เพื่อเอาไว้ช่วยพยุงตัว หากต้องทำงานบนที่สูงและโล่ง ไม่มีจุดให้ยึดเกาะ

210616-Content-อุปกรณ์เซฟตี้-หรือ-PPE-คืออะไร05
  • อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันลำตัว

อุปกรณ์เซฟตี้ป้องกันลำตัว เรียกว่า เสื้อนิรภัย ใช้ป้องกันอันตรายจากสารเคมี, ความร้อน, ตะกั่ว หรือสะเก็ดไฟ ซึ่งเสื้อนิรภัยที่ใช้ในงานต่างชนิดกัน ก็ทำมาจากวัสดุต่างกัน เช่น เสื้อนิรภัยป้องกันสารเคมี จะทำจากโพลีเมอร์ที่ทนต่อฤทธิ์ของสารเคมีได้ เสื้อนิรภัยกันความร้อนทำจาก ผ้าทอเส้นใยแข็งเคลือบผิวด้านนอกด้วยอะลูมิเนียม แต่ถ้าต้องการใช้เพื่อป้องกันการติดไฟ ต้องใช้เสื้อนิรภัยที่ชุบด้วยสารป้องกันไฟ และสุดท้าย คือ เสื้อนิรภัยตะกั่ว ทำจากผ้าใยแก้วฉาบผิวด้วยตะกั่ว ใช้สำหรับป้องกันร่างกายจากรังสีต่าง ๆ

การสวมใส่อุปกรณ์เซฟตี้ขณะทำงาน นอกจากจะเป็นการทำตามกฎหมายความปลอดภัยในโรงงานแล้ว ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ลูกน้องของคุณให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลัง ในฐานะของการเป็นเจ้าของโรงงาน จึงต้องเลือกอุปกรณ์เซฟตี้ที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับงาน สภาพดีและไม่ชำรุด เพื่อการป้องกันอุบัติเหตุให้แก่ผู้สวมใส่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

>>สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย<<