TPM คือ อะไร? มีประโยชน์อย่างไรต่อธุรกิจอุตสาหกรรม

TPM คือ อะไร มีประโยชน์อย่างไรต่อธุรกิจอุตสาหกรรม Kacha มีคำตอบ ใครเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม
หรือ มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็น ต้นน้ำหรือปลายน้ำแล้วละก็ ไม่ควรพลาด

TPM คือ

TPM คือ

TPM คือ การบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องจักร ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมใช้งานเสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดการเสียหายระหว่างใช้งาน ทำให้โรงงานลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนในการผลิตได้มากขึ้น

โดย TPM มีที่มาจากสมาคมที่ปรึกษาสำหรับโรงงานญี่ปุ่น (JIPM) หรือ Japanese Insititute of Plant Maintenance ซึ่งได้คิดค้นแนวคิดนี้ในปี ค.ศ. 1971 โดยการพัฒนาแนวคิดจากเดิม ที่เป็นการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน โดยทีมช่างซ่อมบำรุง (PM) และ การซ่อมบำรุงเบื้องต้น โดยทีมฝ่ายผลิต (AM) ปรับเปลี่ยนเป็นให้ทุกฝ่ายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายบัญชีธุรการ ฝ่ายคงคลัง และ ฝ่ายความปลอดภัย ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการซ่อมบำรุงด้วย ทำให้ลดการทำงานซ้ำซ้อน ลดขั้นตอนการประสานงานต่าง ๆ ส่งผลให้การบำรุงรักษาอุปกรณ์และ เครื่องจักร ทำได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หลักการ TPM มีอะไรบ้าง

หลักการ TPM ถูกจัดวางให้เหมือน บ้าน 1 หลัง ที่จะต้องประกอบด้วย ฐานราก เสา 8 ต้น และ หลังคา ถึงจะทำให้หลักการนี้สมบูรณ์ โดยหากฐานรากมั่นคง เสารับน้ำหนักแข็งแรงทั้ง 8 ต้น ก็จะทำให้สามารถวางหลังคา ซึ่งเป็นเป้าหมายขององค์กรได้สำเร็จ ทำให้บ้านหลังนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยแต่ละองค์ประกอบมีรายละเอียด ดังนี้

ระบบ 5s

TPM

ระบบ 5s เปรียบเสมือนระเบียบขั้นพื้นฐานที่องค์กรจะต้องปลูกฝัง ให้ทุกคนในองค์กรปฏิบัติตาม เพื่อให้เมื่อต้องดำเนินงานตามขั้นตอน ทั้ง 8 ข้อ ซึ่งเป็นเสาหลักของหลักการ TPM แล้ว จะได้ราบรื่น สำเร็จได้ดั่งที่คาดหวัง

1. สะสาง(Seiri – Sort)

คือ การเก็บสิ่งที่จำเป็นเอาไว้ แล้วกำจัดสิ่งที่ไม่จำเป็นทิ้งไป เช่น การทิ้งอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้ หรือ ไม่จำเป็น อุปกรณ์ที่เสียหายแล้วซ่อมไม่ได้ ฯลฯ

2. สะดวก (Seiton – Set)

เป็นการจัดสิ่งของ เครื่องใช้สำนักงาน ให้เป็นระเบียบ มองเห็นได้ชัดเจน เพื่อให้หยิบมาใช้งานได้ง่าย ๆ ไม่ต้องเสียเวลาในการค้นหา ยกตัวอย่างเช่น การจัดการกล่องเก็บเครื่องมืออุปกรณ์ให้เป็นประเภทเดียวกัน แล้วเขียนป้ายติดเอาไว้ให้ชัดเจน เป็นต้น

3. สะอาด (Seiso – Sweep)

ทำความสะอาดพื้นที่ทำงาน หลังใช้งานเป็นประจำ เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดี และ เพิ่มความปลอดภัยระหว่างทำงาน เช่น การกำจัดคราบน้ำมัน เพื่อไม่ให้เดินแล้วลื่น หรือ การกวาดเศษขยะบริเวณพื้นที่การทำงาน เพื่อไม่ให้ขัดแข้งขัดขา ฯลฯ

4. สร้างมาตรฐาน(Seiketsu – Standardized)

กำหนดกฎระเบียบ ขั้นตอนการดำเนินงาน เพื่อให้คนในองค์กร ทำงานในมาตรฐานเดียวกัน เช่น การสร้างกฎเกณฑ์ในที่ทำงาน (Procedure) วิธีการดำเนินงานต่าง ๆ (Work Instruction) ในแต่ละแผนก เป็นต้น

5. สร้างวินัย (Shitsuke – Sustain)

สร้างวินัยของผู้ปฏิบัติงาน และ คนในองค์กร โดยใช้ระบบที่จะช่วยตรวจสอบและวัดผลการทำงานของแต่ละคน เพื่อให้ทุกคนขยันขันแข็ง และ ทำงานกันอย่างเต็มที่ เช่น ระบบการตรวจสอบ (Audit) หรือ การปฏิบัติตาม KPI และ Compliance ต่าง ๆ

8 เสาหลัก TPM

TPM

ในส่วนของ 8 เสาหลัก TPM เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้หลักการ TPM สัมฤทธิ์ผลได้ โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติงาน ดังนี้

1. การบำรุงรักษาด้วยตนเอง (Autonomous Maintenance)

เป็นการทำให้บุคลากรแต่ละแผนก สามารถบำรุงรักษาเครื่องใช้สำนักงาน อุปกรณ์เครื่องจักรอุตสาหกรรมได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งทีมช่างซ่อมบำรุง ด้วยการพัฒนาทักษะซ่อมแซม วิธีการดูแลรักษาให้แก่พนักงานในแผนกนั้น ๆ เพื่อให้อุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมใช้งานเสมอ ซึ่งจะช่วยลดการเสียเวลาในการผลิต และ ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง

2. การซ่อมและบำรุงรักษาตามแผน (Planned Maintenance)

เป้าหมาย คือ เพื่อทำให้เครื่องจักรปราศจากปัญหาขณะใช้งาน และ ผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพ เริ่มตั้งแต่โฟกัสที่เครื่องจักรแต่แรกเริ่ม ว่าถูกออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานในโรงงานหรือไม่ ควรพัฒนาหรือแก้จุดอ่อนตรงไหน เพื่อให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น มีส่วนไหนที่เป็นงานซ่อมที่ทำทุกวันหรือไม่ ชิ้นไหนสามารถวางแผนให้ใช้งานจนพังได้ เพราะไม่ได้มีความสำคัญ หรือ มีค่าซ่อมแพงมาก เป็นต้น

3. การปรับปรุงเฉพาะเรื่อง (Focus Improvement)

มุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงอุปกรณ์ เครื่องจักรเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้มากขึ้น เช่น การปรับปรุงความเร็วของสายพานการลำเลียง การปรับเครื่องจักรให้มีแรงกด แรงบด ที่สม่ำเสมอ เป็นต้น ซึ่งถ้าหากทำได้ มีการวัดผลแล้วว่า สามารถลดต้นทุนให้กับบริษัทได้มากถึง 30%

4. การจัดการอุปกรณ์ในระยะแรกเริ่ม (Early Equipment Management)

ใช้ความสามารถทางวิศวกรรม ในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ เครื่องจักร ให้ช่วยลดต้นทุนในการผลิต และ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น เช่น ทำให้อุปกรณ์เครื่องจักรประหยัดไฟมากขึ้น หรือ มีกำลังการผลิตมากขึ้น โดยอาจขอ Feedback จากผู้ใช้งาน หรือ ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อนำมาเปลี่ยนแปลง หรือ แก้ไข

5. การบริหารจัดการเพื่อคุณภาพ (Quality Management)

ตรวจสอบกระบวนการผลิต ว่ามีปัญหาหรือข้อผิดพลาดใด ๆ หรือไม่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากกระบวนการผลิต ครบถ้วนสมบูรณ์หรือเปล่า ซึ่งกระบวนการที่โรงงานอุตสาหกรรมใช้ในการบริหารจัดการเพื่อคุณภาพ ก็คือ กระบวนการควบคุมคุณภาพ QC (Quality Control) ซึ่งจะตรวจสอบตั้งแต่ วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ คุณภาพระหว่างการผลิต และ คุณภาพผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

6. การฝึกอบรมและการศึกษา (Training And Education)

เพื่อให้การบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องจักรต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีการฝึกอบรมและการศึกษาให้แก่พนักงาน ผู้ปฏิบัติงาน ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องจักต่าง ๆ เวลาเกิดปัญหา จะได้รู้ถึงสาเหตุและสามารถซ่อมบำรุงเองได้

7. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สิ่งแวดล้อม (Safety Health And Environment)

ปัจจัยที่ทำให้อุปกรณ์และเครื่องจักรเกิดความเสียหาย นอกจากเรื่องของกลไกที่ขัดข้อง อะไหล่ชำรุดเสียหายแล้ว เรื่องของความปลอดภัย ชีวอนามัย และ สิ่งแวดล้อม ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ย่อมทำให้อุปกรณ์และเครื่องจักร สามารถทำงานได้ปกติ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ต่อผู้ปฏิบัติงาน จึงควรมีมาตรการด้านความปลอดภัย เช่น ติดป้ายเตือนภัยเอาไว้ใกล้ ๆ ห้ามนำเอาวัตถุไวไฟเข้ามาในสถานที่ปฏิบัติงาน ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม หรือ พนักงานจะต้องใส่ชุดอุปกรณ์นิรภัยเป็นประจำ ฯลฯ ซึ่งถ้าจะให้ดี ควรมีเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประจำสถานที่ปฏิบัติงานด้วย

8. TPM ในด้านระบบ (TPM In Administration)

ปรับปรุงระบบ ให้แผนกต่าง ๆ ในองค์กร หรือ บริษัทมีส่วนร่วม ในการซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องจักรได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดการทำงานซ้ำซ้อน หรือ ขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น การทำให้ แผนกธุรการทั่วไป จัดการใบสั่งซื้อ ใบจัดซื้อจัดจ้าง และ จัดตารางเวลาหน้าที่ ให้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เป้าหมายของ TPM

TPM คือ

ในส่วนสุดท้าย ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของ TPM ประกอบด้วย 3 หัวข้อด้วยกัน ซึ่งถ้าหากโรงงานอุตสาหกรรมไหน ทำได้ทั้ง 3 ข้อ ก็จะถือว่าเป็นโรงงานที่มีประสิทธิภาพในการผลิตสูงสุดเลยก็ว่าได้ นั่นคือ

  1. มีผลิตภัณฑ์ที่เสียหาย หรือ ไม่ได้คุณภาพเป็นศูนย์ (Zero defects)
  2. ความขัดข้องในการผลิตของเครื่องจักรเป็นศูนย์ (Zero Breakdown)
  3. อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์ (Zero Accident)

ประโยชน์ของ TPM ต่อธุรกิจอุตสาหกรรม

TPM คือ

1. เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

เมื่ออุปกรณ์หรือเครื่องจักร ทำงานได้ปกติตลอดเวลา หรือ มีการบำรุงรักษา เสริมสมรรถนะให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยไม่มีการหยุด หรือ เสียเวลาซ่อมบำรุง ก็ย่อมช่วยเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ ผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกมาได้มากขึ้น

2. ลดการเสียเวลาในการซ่อมบำรุง

การซ่อมบำรุงเครื่องจักรให้พร้อมใช้งานเสมอ จะช่วยลดการเสียเวลาในการซ่อมบำรุง ไม่ต้องคอยหยุดเครื่องจักรบ่อย ๆ ทำให้การผลิตมีความต่อเนื่อง สามารถผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์ได้ภายในเวลาที่กำหนด

3. ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา

หากอุปกรณ์เครื่องจักรเกิดการชำรุดเสียหาย แล้วเรารีบทำการซ่อมแซม ก็มีโอกาสที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาได้มาก เพราะเป็นการชำรุดแค่เพียงเล็กน้อย แต่หากปล่อยไว้นาน ๆ แล้วซ่อมแซมทีเดียว ก็อาจจะเสียค่าใช้จ่ายมาก เนื่องจากความเสียหายขยายวงกว้าง ทำให้อาจต้องเปลี่ยนอะไหล่ หรือ ต้องใช้เวลาบำรุงรักษาเป็นเวลานานนั่นเอง

4. สร้างความมั่นใจในผลิตภัณฑ์

เครื่องจักรที่ทำงานได้ปกติ ย่อมสามารถผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ ตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภคได้ไม่ยาก กล่าวคือ ผู้ผลิตก็มั่นใจได้ว่าสินค้าตนเองมีคุณภาพ สามารถส่งมอบให้แก่ผู้ประกอบการหรือลูกค้าได้ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ในส่วนของผู้บริโภคเอง ก็มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ซื้อมานั้น มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูง

5. ส่งเสริมให้พนักงานมีความรับผิดชอบ

องค์กรหรือบริษัทที่เป็น โรงงานอุตสาหกรรม จะสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้ ก็ต่อเมื่อขับเคลื่อนด้วย พนักงานที่มีความรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเองและสังคม ดังนั้น การดำเนินงานตามหลักการ TPM จะช่วยให้ส่งเสริมให้พนักงานมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะในขั้นตอนการบำรุงรักษาเครื่องจักร ซึ่งจะส่งผลดีต่อกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนเลยก็ว่าได้

เพราะเครื่องจักรที่อยู่ในสภาพดีและพร้อมใช้งานเสมอ คือ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ใครเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม จึงควรนำหลักการ TPM ไปปรับใช้ ในองค์กรหรือบริษัทของคุณ เพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น


บทความที่น่าสนใจ