ดินทรุด เกิดจากอะไร? อันตรายไหม? ซ่อมแซมได้อย่างไร?

ดินทรุด ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดได้

สาเหตุของดินทรุดตัวเกิดจากอะไร อันตรายไหม และมีวิธีป้องกันอย่างไร ตาม KACHA ไปดูกัน!

ดินทรุด เกิดจากอะไร?

Land Subsidence สาเหตุ ดินทรุด เกิดจากอะไร

แผ่นดินทรุด หรือ ดินทรุด (Land Subsidence) เกิดจากการยุบตัวของชั้นดิน เนื่องจาก ระดับน้ำใต้ดินลดเร็วเกินไป จนเกิดเป็นช่องว่าง ทำให้ดินด้านบนทรุดลงแทนที่ ซึ่งเป็นธรรมชาติของดินที่มีการทรุดตัวอยู่เสมอ อีกสาเหตุหนึ่ง คือ ได้รับการกระตุ้นจากมนุษย์ เช่น การสูบน้ำใต้ดินมาใช้มากเกินไป การถมดินไม่ดี ไม่แน่น และการสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีน้ำหนักมากเกินไป นอกจากนี้การถมดินสูงกว่าระดับถนนและพื้นที่ใกล้เคียง โดยไม่มีการป้องกันหรือสร้างกำแพงกันดิน ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ดินไหลจนเกิดปัญหาดินทรุดได้เช่นกัน

  • ดินทรุดตัวตามธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับสภาพธรณีวิทยา ณ บริเวณนั้น
  • สร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่มีน้ำหนักมากเกินกว่าดินบริเวณนั้นรับไหว
  • ถมดินไม่แน่น และ ถมดินสูงกว่าพื้นที่ใกล้เคียง โดยไม่มีการป้องกัน
  • เกิดจากแรงกระทำรอบ ๆ โดยเครื่องจักรขนาดใหญ่ เช่น การเจาะเสาเข็ม การขุดดินดินขาย การขุดสระขนาดใหญ่ (หากบ้านเราอยู่ใกล้ก็มีโอกาสเกิดดินทรุดได้)

กร็ดความรู้ พื้นที่ในกทม. และ ปริมณฑล ส่วนมากเป็นดินเหนียวอ่อน ทำให้อัตราดินยุบตัวค่อนข้างสูง เฉลี่ย 7 – 10 ซม./ปี  ภายหลังมีการควบคุมการใช้น้ำบาดาล ช่วยให้ดินในบางพื้นที่ทรุดตัวน้อยลง เหลือ 2-3 ซม. แต่ก็ยังมีการทรุดตัวของพื้นดินต่อเนื่อง

Land Subsidence ดินทรุด ทำให้บ้านทรุดอย่างไร

ดินทรุดทำให้บ้านทรุดด้วยหรือไม่?

หากบ้านที่สร้างอยู่บนเสาเข็มและรากฐานที่มีความแข็งแรง เมื่อดินทรุดตัวลงบ้านจะไม่ทรุดตาม แต่ถ้าใช้เสาเข็มและวางรากฐานไม่เหมาะสม ก็มีโอกาสทำให้บ้านทรุดได้เช่นกัน บ้านทรุดส่วนใหญ่จึงเกิดจากกระบวนการก่อสร้างที่ไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะงานเสาเข็มที่มีความยาวไม่เท่ากัน เช่น งานต่อเติม งานโรงจอดรถ งานต่อเติมเฉลียงที่ใช้เสาเข็มที่สั้นกว่าเสาเข็มหลักของตัวบ้าน  ดังนั้น เราสามารถป้องกันได้ตั้งแต่กระบวนการก่อสร้าง โดยการลงเสาเข็มระยะความยาวเท่ากับตัวบ้าน ซึ่งปัจจุบันโครงการบ้านสมัยใหม่ได้นำวิธีการดังกล่าวมาเป็นจุดขาย ช่วยลดปัญหาบ้านทรุดได้ดี

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ดินอ่อน) จำเป็นต้องลงเสาเข็ม

ส่วนภาคเหนือ (ดินแข็ง)สามารถสร้างด้วยระบบฐานแผ่ได้

วิธีสังเกตดินทรุดในเบื้องต้น

วิธีสังเกต ดินทรุด
  • ประตูหน้าต่างเริ่มเปิดปิดไม่ลงล็อก เพราะดินลาดเอียง
  • สังเกตเห็นท่อน้ำที่ฝังดินโผล่ขึ้นรอบบ้าน
  • พบปัญหาน้ำรั่ว บิลค่าน้ำสูงกว่าการใช้งานจริง
  • แผ่นปูทางทางเดินเริ่มเอียง เสียระดับ ไม่สวยงาม
  • ตามแนวผนังรอบ ๆ บ้าน เริ่มมีรูขนาดเล็ก
  • บริเวณจอดรถเริ่มแตกร้าวและแยกออกจากตัวบ้าน
  • เห็นสัตว์เลื้อยคลาน เลื้อยหายไปบริเวณรอบตัวบ้าน

ดินทรุด อันตรายไหม?

อันตรายจากดินทรุดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของดินว่าทรุดลงกะทันหันหรือทรุดลงลึกหรือไม่ หากบ้านของเรามีเสาเข็มหรือรากฐานที่มีความแข็งแรงก็หมดห่วง เพราะไม่ส่งผลหรือเกิดอันตรายใด ๆ เว้นแต่ว่าพื้นบ้านเป็นโพรงจนเกิดน้ำท่วมขัง ทำให้เป็นพื้นที่ชุกชุมของสัตว์เลื้อยคลาน สร้างความรำคาญและอันตรายได้หากเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษ ดังนั้น หากดินทรุดตัวเราควรแก้ไขปัญหานั้นทันที

รวมวิธีป้องกันดินทรุด

การตอกเสาเข็ม วางรากฐาน วิธีป้องกันบ้านจาก ดินทรุด

แม้ว่าดินทรุดจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันได้ก่อนสร้างบ้านหรืออาคาร มีวิธีการดังนี้

1. สำรวจประวัติของดิน

ขั้นตอนนี้ทำได้ในกรณีที่ยังไม่สร้างบ้าน เป็นการศึกษาว่าบริเวณเป็นอะไรมาก่อน เป็นแอ่ง บ่อน้ำ หรืออยู่ติดกับแม่น้ำหรือไม่ หากใช่ รับรองว่าบริเวณนี้ถมดินยังไงก็มีโอกาสทรุดแน่นอน เนื่องจากดินอมน้ำมานาน เกิดการกัดเซาะของน้ำอยู่ตลอด หากเป็นพื้นที่ในกรุงเทพหรือปริมณฑล ให้ศึกษาว่าที่ดินของเราอยู่ในโซนไหน อัตราดินทรุดเท่าไหร่ ดินอ่อนหรือไม่ จากผลการสำรวจขอกรมทรัพยากรธรณี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียและกรมแผนที่ทหาร ปี 2551 พบว่า เขตบางกะปิเป็นพื้นที่ที่ดินทรุดมากที่สุด ส่วนที่น้อยสุดคือฝั่งนนทบุรี ดังนั้น ก่อนซื้อที่ดินควรศึกษาความเป็นมาของที่ดินนั้นเป็นอย่างแรก หากเป็นที่ดินตกทอด หรือจำเป็นต้องสร้างอาคารไว้ในบริเวณนั้นจริง ๆ ให้เตรียมตัวรับมือกับขั้นตอนการก่อสร้างแทน หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ พื้นที่ก่อสร้าง บ่อบาดาลขนาดใหญ่

2. สังเกตดินในช่วงหน้าฝน

ช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะกับการเช็กสภาพดิน วิธีทำคือให้สังเกตปริมาณของดินที่ไหลไปกับน้ำฝน หากไหลเยอะหมายความว่าถมดินไม่แน่น เสี่ยงต่อการทรุดตัว

การถมที่มี 2 แบบ คือ

  • ถมดินแบบอัด เป็นการเพิ่มดินไปทีละเลเยอร์ หรือ เพิ่มความหนาทีละชั้น วิธีการถมดินแบบนี้จะทำให้ดินแน่น ป้องกันดินทรุดได้ดี
  • ถมดินแบบไม่อัด เป็นการเติมดินครั้งเดียวจบ ข้อดีคือได้ความเร็ว แต่ดินทรุดตัวง่าย

3. ถมดินไว้ 2 – 3 ปีก่อนสร้างอาคาร

การถมดินไว้หลาย ๆ ปีก่อนสร้างอาคาร จะทำให้ดินแน่นกว่าการถมแล้วสร้างอาคารเลย ยิ่งปล่อยเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ดินเกาะกันแน่นขึ้น โดยเฉพาะในหน้าฝน น้ำจะลดช่องว่างระหว่างเม็ดดินทำให้ดินแน่นและแข็งตัว ช่วยยืดอายุและลดความรุนแรงของดินทรุดได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปสักสิบยี่สิบปี ดินจะค่อย ๆ ทรุดตัวลงตามกาลเวลา แต่การแก้ปัญหาแบบนี้ก็จะช่วยลดโอกาสดินทรุดได้อีกทางหนึ่ง

4. นโยบายป้องกันดินทรุด

นโยบายป้องกันดินทรุด เป็นนโยบายที่มีไว้เพื่อควบคุมการใช้น้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่สูบน้ำมาใช้เยอะเกินไป รวมถึงควบคุมมาตรฐานของการก่อสร้างขนาดใหญ่ ต้องได้รับการอนุญาตให้ถูกต้อง เช่น สำรวจสภาพดิน ควบคุมโครงสร้างอาคารให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด การควบคุมระดับน้ำสาธารณะไม่ให้ลดลงอย่างรวดเร็วหรือไม่ให้ลดต่ำลงกว่าที่กำหนดไว้ รวมถึงการทำกำแพงกันดินริมตลิ่ง หรือ การปรับปรุงฐานรากดินอ่อนของถนนให้แข็งแรงขึ้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

แก้ปัญหา ดินทรุด ยังไง?

ซ่อมแซมบ้านจากดินทรุด

ส่วนมากจะพบปัญหา ดินทรุดใต้พื้นบ้าน หรือ เกิดโพรงใต้พื้นบ้าน ซึ่งมีวิธีแก้ไขดังนี้

  1. ใช้แผ่นปิดโพรงใต้บ้าน มีหลายแบบให้เลือก
    • พื้นขอบคันหิน เป็นวิธีแก้ไขเบื้องต้น ทำเองได้ สะดวก รวดเร็ว ต้นทุนไม่สูงมาก สามารถทาสีทับเพิ่มความสวยงามได้ หากมีพื้นที่มากอาจตกแต่งด้วยขอบคันหิน 2 แถวให้เป็นกระบะใส่ดิน ปลูกต้นไม้เพิ่มความเป็นธรรมชาติให้บ้านได้ ใช้ในกรณีดินรอบบ้านทรุดตัวไม่มาก

คลิกอ่าน: ขอบคันหิน มีกี่แบบ และมีวิธีการติดตั้งอย่างไร?

    • แผ่นสมาร์ทบอร์ด แก้ปัญหาดินทรุดตัวจนเกิดช่องโหว่ เป็นเหมือนแนวกำแพงปูนที่กั้นบริเวณด้านหน้าโพรง เพิ่มความแข็งแรงของพื้นดินบริเวณด้านหน้าโพรงรอบบ้าน ระดับพื้นดินทรุดจากท้องคานไม่เกิน 20 ซม.
    • แผ่นพีวีซี (PVC) เป็นแผ่นปิดโพรงบ้านที่มีคุณสมบัติทนน้ำ ความร้อน และสารเคมีได้ดี สามารถยึดแผ่นพีวีซีปิดโพรงกับคานคอดินบ้านได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อการรับน้ำหนักของโครงสร้างเดิม
    • แผ่นคอนกรีต ใช้ในกรณีดินทรุดจากท้องคานไม่เกิน 50 ซม.
  1. ทำแนวกำแพงลึกลงไปในดิน ทำได้ด้วยการก่อเป็นผนังหรือใช้วัสดุสำเร็จรูปเสียบลงไปปิดช่องแทน เช่น ซีเมนต์บอร์ด (โพรงขนาดเล็ก) และแผ่นคอนกรีตสำเร็จ (โพรงขนาดใหญ่) หรือใช้ร่วมกับเสาซีเมนต์ขนาดเล็ก เพื่อค้ำยันเสริมความแข็งแรง
  2. ฉีดปูนซีเมนต์เหลวเข้าไปใต้พื้นบ้าน วิธีนี้เป็นวิธีแก้ไขในระยะยาว ปิดช่องโหว่ได้ทุกซอกทุกมุม น้ำหนักเบา ไม่ส่งผลกระทบต่อการรับน้ำหนักของเสาเข็มและฐานราก
  3. ตอกเสาเข็มไมโครไพล์ นวัตกรรมแบบใหม่ เป็นการวางรากฐานด้วยเสาเข็มขนาดเล็ก คิดค้นมาเพื่อต่อเติมหรือก่อสร้างฐานรากใหม่ที่ต้องการความแข็งแรงสูง เพื่อแก้ไขการทรุดตัวของโครงสร้างโดยเฉพาะ
  4. วางรากฐานใหม่ วิธีนี้เป็นวิธีที่ยากและใช้งบประมาณมากที่สุด ใช้งานได้ระยะยาว ปลอดภัยและมั่นใจกว่าวิธีอื่น ใช้ในกรณีที่บ้านทรุดตัวหนัก

การทรุดตัวของดิน มีสาเหตุมาทั้งจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ ดังนั้น วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือเราต้องเลือกพื้นที่ที่ดินมีความแข็งแรง อัดแน่น ไม่ติดกับบริเวณแหล่งน้ำ หรือ บ่อบาดาลขนาดใหญ่ ส่วนในเรื่องการก่อสร้าง ให้เลือกผู้รับเหมาก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน มีการตอกเสาเข็มและวางรากฐานอย่างถูกต้อง รวมถึงศึกษาวิธีปิดโพรงใต้บ้านหรือบริเวณบ้านให้ดี เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ที่มีพิษ