พุก คือ อุปกรณ์สำหรับช่วยยึดน็อตและสกรูเข้ากับพื้นหรือผนังที่มีความยืดหยุ่นน้อย เช่น พื้นคอนกรีต ผนังยิปซั่ม ฯลฯ ใช้งานง่ายเพียงเจาะรูนำด้วยสว่านให้ได้ขนาดความลึกที่ต้องการ

ดังนั้น ไปทำความรู้จักพุกแต่ละชนิด ประเภทของพุก กันก่อนดีไหม เพื่อให้สามารถเลือกใช้งานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ตาม KACHA ไปดูกันเลยดีกว่า


ประเภทของพุก มีอะไรบ้าง?

พุกเป็นวัสดุก่อสร้างอย่างหนึ่ง ซึ่งตัวพุกนั้นจะเป็นอุปกรณ์ช่วยยึดตะปูเกลียว (น็อตหรือสกรู) เข้ากับพื้นหรือผนังที่ทำมาจากคอนกรีต, คอนกรีตเสริมเหล็ก, ผนังก่ออิฐ, ทั้งอิฐมอญ, อิฐมวลเบา และคอนกรีตบล็อก รวมถึงผนัง และฝ้าเพดานที่ติดตั้งด้วยแผ่นไม้อัด, แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์, แผ่นไม้อัดซีเมนต์ แผ่นยิปซั่ม ฯลฯ บนโครงคร่าวต่าง ๆ เพื่อใช้ร่วมกับการยึดแขวนอุปกรณ์ หรือสิ่งของต่าง ๆ เช่น ติดตั้งระแนงไม้เทียมกับโครงเหล็กบนผนังก่ออิฐมวลเบา ติดตั้งเหล็กบนพื้นคอนกรีต เพื่อยึดไม้พื้นระเบียง แขวนกระจกเงาบนผนังแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ แขวนโคมไฟขนาดเล็กบนฝ้าเพดาน แบ่งได้ประเภทได้ ดังนี้

1. พุกพลาสติก หรือพุกตัวหนอน

เป็นพุกที่เห็นกันอยู่ทั่ว ๆ ไป เพราะราคาถูกหาซื้อง่าย และเป็นพุกเหมาะกับงานทั่ว ๆ ไป ที่รับน้ำหนักไม่มาก เช่น แขวนรูปภาพ หรือชั้นวางติดผนัง โดยพุกพลาสติก หรือพุกตัวหนอนนี้ จะเหมาะกับผนังคอนกรีต หรือผนังก่ออิฐฉาบปูน นอกจากนี้ยังมีขนาดของพุกให้เลือกพลากหลายขนาดขึ้นอยู่กับขนาดของรูที่เจาะ โดยสามารถแบ่งออกเป็น พุกพลาสติก เบอร์ 5, เบอร์ 6, เบอร์ 7 และเบอร์ 8

โดยลักษณะการใช้งานของพุกพลาสติก หรือพุกตัวหนอนต้องไม่ลืมดูเบอร์พุก และขนาดของหัวสว่านให้เหมาะสม เพื่อให้รูที่เจาะมีขนาดพอดีกัน สามารถใส่ได้พอดี หากเลือกไม่เหมาะกันก็จะทำให้ พุกหลวมมากกว่ารูที่เจาะ และไม่สามารถยึดติดกันได้อย่างเหมาะสม ขนาดพุกที่นิยมใช้กัน คือ พุกพลาสติกเบอร์ 6 และเบอร์ 7 

  • พุกพลาสติกเบอร์ 6 จะใช้ดอกสว่านขนาด 6 mm. 
  • พุกพลาสติกเบอร์ 7 จะใช้ดอกสว่านขนาด 6.5 mm. 
210719-Content-วิธีเลือกพุก-ให้เหมาะสมกับการใช้งาน-02


2. พุกคอนกรีตบล็อก

มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับพุกตัวหนอน แต่บริเวณลำตัวของพุก จะมีสันหรือลอนถี่มากว่า โดยทำมาจากไนลอน ซึ่งมีความเหนียว และแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักได้สูงกว่าพุกพลาสติกทั่วไป

3. พุกคอนกรีตมวลเบา

มีรูปร่างคล้ายกับพุกตัวหนอน และบริเวณลำตัวของพุกมีลักษณะเป็นเกลียว ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะพื้นผิวได้ดี และทำมาจากเหล็ก เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักของวัตถุได้มากขึ้น

210719-Content-วิธีเลือกพุก-ให้เหมาะสมกับการใช้งาน-03


4. พุกสำหรับงานยิปซั่ม

เป็นอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้น เพื่อใช้กับแผ่นยิปซั่มโดยเฉพาะ เนื่องจากเนื้อในของยิปซั่มจะมีประสิทธิภาพในการรับน้ำหนักน้อยกว่าผนังที่ทำด้วยคอนกรีต ดังนั้น ช่วงลำตัวของพุก จึงออกแบบให้มีลักษณะเป็นกระเปาะนูนขึ้นมาเล็กน้อย เพื่อช่วยเสริมแรงในการยึดเกาะพื้นผิวยิปซั่มได้ดียิ่งขึ้น โดยมีให้เลือกใช้ทั้งขนาดสั้น(อ้วน) และขนาดยาว(ผอม)

5. พุกเหล็ก

สำหรับพุกเหล็ก จะเป็นพุกที่สามารถรับน้ำหนักของสิ่งของได้มากกว่า เมื่อเทียบกับพุกพลาสติก แต่ก็มีข้อด้อยตรงที่เป็นพุกที่สามารถใช้งานภายในบ้าน เนื่องจากเป็นเหล็กหากโดนฝน หรือโดนลม ก็อาจก่อให้เกิดสนิมได้ โดยพุกเหล็กจะใช้ในงานทั่ว ๆ ไปที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ เช่น แขวนโคมไฟแชงเดอเลียร์ เป็นต้น จำเป็นต้องเลือกขนาดของดอกสว่านให้เหมาะสมกับขนาดของพุกอยู่เสมอ เพื่อให้ประสิทธิภาพในการยึดเกาะดีที่สุด โดยพุกเหล็กจะแบ่งขนาดออกเป็น 3/16″, ¼”, 5/16″, ⅜”, ½”, ⅝” และ ¾”

210719-Content-วิธีเลือกพุก-ให้เหมาะสมกับการใช้งาน-04


6. พุกตะกั่ว

เหมาะกับงานกลางแจ้ง เนื่องจาก รับน้ำหนัก และทนต่ออุณหภูมิความร้อนภายนอกบ้านได้ดีกว่าพุกพลาสติก หรือพุกเหล็ก ซึ่งเกิดสนิมได้ง่าย เช่น การติดตั้งแท็งก์บรรจุน้ำดื่มน้ำใช้ที่ตั้งอยู่บนระเบียง หรือดาดฟ้า


เทคนิคการใช้งานพุก เป็นอย่างไร?

เมื่อเราขันน็อตหรือสกรูเข้าไปในช่องว่างที่เจาะนำร่องไว้ เขี้ยวเล็ก ๆ สองเขี้ยว ซึ่งอยู่ด้านข้างของพุก เช่น พุกเหล็ก ก็จะค่อย ๆ ขยายตัวออกตามแรงขันจนตัวพุกมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งการขยายตัว หรือเบ่งตัวของพุกนี้ จะทำให้สามารถรับน้ำหนักของวัตถุที่ต้องการติดตั้งได้ แต่ถ้าเป็นพุกยิปซั่ม ช่วงลำตัว จะมีลักษณะเป็นกระเปาะนูนขึ้นมา เมื่อออกแรงขัน ก็จะบานออกมาด้านหลังของแผ่นยิปซั่ม (เป็นแฉก ๆ) ช่วยเพิ่มความแข็งแรงในการยึดเกาะพื้นผิวได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง


สรุปได้ว่าการเลือกใช้งานพุก เพื่อเจาะผนังนั้น จำเป็นต้องเลือกให้ถูกประเภท และต้องไม่ลืมเรื่องขนาดของพุก กับหัวสว่าง หากเป็นผนังเบาต้องไม่ลืมเรื่องระยะของพุกที่จะเจาะ ความหนาของแผ่นผนังเบาให้ดี เพื่อที่ของประดับตกแต่งของเราจะไม่เสียหาย และยึดเกาะอยู่บนผนังบ้านของเราไปอีกนาน

>>สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย<<