การประปาสำหรับที่อยู่อาศัย มีความสะดวกมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันก็มีความซับซ้อนมากขึ้น “วาล์ว” ส่วนใหญ่ในระบบประปาสำหรับที่อยู่อาศัยเป็นส่วนหนึ่งของระบบท่อประปา วาล์วทำหน้าที่หยุด หรือควบคุมการไหลของของเหลวหรือก๊าซ และในกรณีของน้ำ จะใช้ในการควบคุมการไหลของน้ำ แรงดันจากน้ำประปา หรืออ่างเก็บน้ำ ขึ้นอยู่กับการออกแบบวาล์ว วาล์วแต่ละประเภทมีข้อดีข้อเสีย และการใช้งานที่เหมาะสม
ตาม KACHA ไปรู้จักกับ วาล์ว กันดีกว่า ว่าจะมีแบบไหนบ้าง เพื่อการเลือกใช้งานให้เหมาะสม
รู้จักกับวาล์ว
วาล์ว (Valve) เป็นอุปกรณ์สำคัญที่มีหน้าที่ควบคุมการไหลของของเหลว เช่น น้ำ สารเคมี แก๊ส อากาศ โดยวาล์วจะทำหน้าที่ คือ เปิด-ปิด ทางเดินของเหลว ควบคุมอัตราการไหลได้ สามารถปรับให้ของเหลวไหลในระดับที่ต้องการ เปลี่ยนทิศทางการไหลได้โดยง่าย ป้องกันการไหลย้อนกลับป้องกันไม่ให้ของเหลวไหลมาผสมกัน ส่วนการควบคุมการทำงานของวาล์วนั้น มีทั้งวาล์วที่ควบคุมได้เองโดยอัตโนมัติ และวาล์วที่ควบคุมได้โดยใช้มือปรับ
ประเภทของวาล์ว และวิธีเลือกวาล์วที่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน
วาล์วแบ่งตามประเภทการใช้งาน เช่น วาล์วกันกลับ วาล์วตัดตอน หรือวาล์วหัวปิด-เปิดน้ำ
- Non-return or check valves (วาล์วกันกลับ) เป็นวาล์วทำหน้าที่บังคับให้การไหลเป็นไปในทิศทางเดียว ไม่เกิดการย้อนกลับ เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ มักใช้ในระบบระบายน้ำทิ้ง หรือน้ำเสีย แต่ก็ยังสามารถใช้ในระบบแรงดันด้วยเช่นกัน
- Isolation valves (วาล์วตัดตอน) ใช้เพื่อตัดการเชื่อมต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบท่อชั่วคราว ตัวอย่างเช่น วาล์วปีกผีเสื้อ ที่ไม่สามารถใช้งานได้เพื่อให้สามารถบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมได้ วาล์วตัดตอน โดยทั่วไปแล้ว จะอยู่ในตำแหน่งปิดเต็ม (หยุดการไหลทั้งหมด) หรือเปิดเต็มที่ (อนุญาตการไหลแบบเต็มที่)
- Throttling valves (วาล์วหัวปิด-เปิดน้ำ) ใช้เพื่อควบคุมปริมาณ หรือแรงดันของน้ำที่ไหลผ่าน และได้รับการออกแบบมาเพื่อทนต่อความแข็งแรง และการสึกหรอที่เกิดจากการทำงานของวาล์ว
วาล์ว แต่ละประเภท มีอะไรบ้าง?
-
บอลวาล์ว (Ball Valve)
เป็นวาล์วที่ทำหน้าที่ปิด-เปิด เพื่อควบคุมอัตราการไหลของน้ำ หรือของเหลว ตัววาล์วเป็นทรงกลม มีรูตรงกลาง มีหลายวัสดุให้เลือกใช้ เช่น ทองเหลือง สแตนเลส เหล็ก พีวีซี เป็นต้นโดยจะมีด้ามคันโยกที่ยึดติดไว้กับตัววาล์ว เพื่อใช้ ควบคุมตัวบอลวาล์วให้ปิด-เปิดได้โดยง่าย ข้อดีของบอลวาล์ว คือ สามารถปิดการไหลของของเหลวได้สนิทและรวดเร็ว ปรับอัตราการไหลได้สะดวก ง่ายต่อการควบคุม มีความคงทน และมีให้เลือกใช้หลายแบบ ข้อเสีย คือ ไม่สามารถใช้กับของไหลที่มีแรงดันสูงได้ ส่วนใหญ่บอลวาล์วจะใช้ในงานเดินท่อน้ำดีทั่วไป
-
วาล์วหรี่ (Needle Valve)
ทำหน้าที่ควบคุมอัตราการไหลเช่นเดียวกับโกลบวาล์ว เช่น ปิด เปิด เร่ง หรี่ แต่ลักษณะพิเศษของวาล์วหรี่ จะใช้ในงานควบคุมการไหลที่มีความละเอียดสูงช่องเปิดของวาล์วหรี่ จะมีขนาดเล็กกว่าโกลบวาล์ว ข้อดีของวาล์วหรี่ คือ เหมาะเป็นพิเศษสำหรับการปรับปริมาณการไหลอย่างละเอียด เวลาปิดการไหลสามารถปิดได้อย่างสนิท การใช้งาน คือ ใช้ต่อจากท่อโปรเซสใหญ่เชื่อมกับ instrument เครื่องมือวัดคุมเกจต่าง ๆ วาล์วหรี่ เหมาะกับงานระบบขนาดเล็ก เช่น ระบบท่อแก๊ส ในห้องปฏิบัติการวิจัย และสามารถใช้แทนบอลวาล์วได้ในบางจุด เป็นต้น
-
วาล์วลิ้นปีกผีเสื้อ (Butterfly Valve)
ตัวลิ้นที่ทำหน้าที่ควบคุมการไหล จะมีลักษณะเป็นจานแบนติดตั้งอยู่ภายใน โดยมีก้านหมุน ที่ยึดกับลิ้นวาล์ว ทำหน้าที่ควบคุมลิ้นวาล์วปีกผีเสื้อ ให้ได้ระดับตามที่ต้องการ สามารถหมุนปรับได้ถึง 90 องศา ข้อดี คือ มีโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อน ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนที่น้อยชิ้น ทำให้บำรุงดูแลรักษาง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย ควบคุมการไหลได้ดี มีตัวเลือกของวัสดุหลากหลาย จึงสามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับของเหลวในท่อได้ วาล์วปีกผีเสื้อ ส่วนใหญ่จะใช้ในงานท่อขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมเคมี ระบบน้ำทิ้ง ระบบส่งน้ำ ท่อน้ำหล่อเย็น ท่ออากาศของระบบทำความเย็น เป็นต้น
-
วาล์วกันกลับ (Check Valve)
เป็นวาล์วที่ใช้ควบคุมทิศทางการไหลของของเหลวให้ไหลไปยังทิศทางที่ต้องการ โดยที่ของเหลวนั้น ไม่สามารถไหลย้อนกลับในทิศทางเดิมได้ วาล์วกันกลับ แบ่งออกให้เป็น 2 ชนิด ดังนี้
- แบบเหวี่ยง
- แบบยก
ซึ่งทั้ง 2 แบบนี้ จะทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกัน คือ เมื่อมีแรงดันน้ำไหลผ่านวาล์วในทิศทางที่ต้องการ ลิ้นวาล์วจะเปิดทันที และน้ำจะสามารถไหลผ่านไปได้ แต่ถ้ามีแรงดันน้ำไหลย้อนกลับมาในทางเดิม ลิ้นวาล์วจะปิด ทำให้น้ำไม่สามารถไหลย้อนผ่านทางเดิมไปได้ วาล์วกันกลับส่วนใหญ่จะใช้ในระบบงานปั๊มน้ำ เพื่อป้องกันแรงดันน้ำไหลย้อนกลับเข้าสู่ตัวเครื่อง ซึ่งเป็นสาเหทำให้เครื่องปั๊มชำรุดเสียหายได้
-
เกทวาล์ว (Gate Valve)
เป็นวาล์วที่ใช้สำหรับเปิด-ปิดการไหลในท่อ ลักษณะการทำงาน จะเป็นการเลื่อนแผ่นทองเหลืองขึ้นหรือลง เพื่อเป็นการเปิดหรือปิดทางไหล ลักษณะคล้ายกับประตูกั้นน้ำ บางคนจึงเรียกเกทวาล์วว่า ประตูน้ำ ข้อดีของเกทวาล์ว คือ เป็นวาล์วที่มีแรงเสียดทานการไหลต่ำมาก เมื่ออยู่ในตำแหน่งเปิด สามารถใช้กับของไหลได้หลายชนิด ราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่าย มีหลายขนาด และหลายวัสดุให้เลือกใช้ ข้อเสีย คือ การใช้งานเกทวาล์ว เวลาเปิดวาล์วควรหมุนเปิดให้สุด มิฉะนั้น ลิ้นวาล์วอาจจะได้รับผลกระทบจากแรงดันน้ำ เมื่อใช้เป็นเวลานานลิ้นวาล์วอาจจะสึกหรอก่อนกำหนดได้
-
โกลบวาล์ว (Globe Valve)
เป็นวาล์วที่ใช้ควบคุมปริมาณการไหลของของเหลว ลักษณะการทำงาน คือ เวลาเปิดหรือปิดวาล์ว ลิ้นวาล์วจะทำหน้าที่เลื่อนขึ้นหรือลงในทิศทางที่เข้าหาบ่าวาล์ว ของเหลวที่ไหลผ่านตัววาล์วจะมีการหักเลี้ยวหลายครั้งทำให้แรงดันของของเหลวลดลง ทำให้สามารถควบคุมปริมาณการไหลได้ ข้อดีของโกลบวาล์วคือ มีคุณสมบัติในการเพิ่มหรือหรี่วาล์วได้ดี มีหลายขนาด และหลายวัสดุให้เลือกใช้ เช่น ทองเหลือง เหล็กหล่อ เหล็กเหนียว โลหะผสมที่สามารถทนการกัดกร่อน โกลบวาล์วเหมาะกับงานที่ต้องมีการเปิด-ปิดวาล์วหลายครั้ง ถึงแม้จะมีการใช้งานบ่อยแต่เกิดการสึกหรอน้อยมาก
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ วาล์ว แต่ละประเภท การใช้งานก็แตกต่างกันไป หวังว่าบทความนี้ จะทำให้หลาย ๆ คนเข้าใจและรู้จักกับวาล์วให้มากขึ้น และเป็นแนวทางในการนำไปเลือกใช้งานตามความเหมาะสม