ลูกลอย คืออะไร? มีความสำคัญกับระบบแทงค์น้ำอย่างไรบ้าง?

ลูกลอย ตัวช่วยในการวัดระดับน้ำ และควบคุมน้ำภายในแทงค์ จะมีความสำคัญมากขนาดไหน มีโครงสร้างการทำงานแบบใด?

แล้วจะเลือกยังไงให้เหมาะกับการใช้งาน ตาม KACHA ไปหาคำตอบกันเลย..

ลูกลอย คืออะไร?

โครงสร้าง ลูกลอย

ลูกลอย (Float) คือ อุปกรณ์วัดระดับน้ำหรือของเหลว ส่วนมากผลิตจากพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) และโพลีโพรพิลีน (PP) ซึ่งเป็นพลาสติกที่ได้รับความนิยมสูง เพราะมีความทนทานกว่า นอกจากนี้ ยังมีลูกลอยที่ทำมาจากโลหะ สแตนเลส และวัสดุประเภทอื่น ๆ ด้วย ส่วนรูปร่างจะมีลักษณะกลม แบน หรือกระบอก เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย แต่ควรมีรูปร่างและขนาดที่ได้รับการออกแบบให้รับแรงลอยตัวได้มาก เพื่อความว่องไวในการวัด และต้องมีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำหรือของเหลวเพื่อที่จะให้ลอยตัวได้ ซึ่งขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขึ้นอยู่กับคุณลักษณะและคุณสมบัติของของเหลวที่ต้องการวัดระดับ เช่น ลูกลอยที่มีขนาดใหญ่ ใช้วัดระดับของเหลวที่มีความหนาแน่นต่ำ และในทางกลับกันการวัดระดับของเหลวที่มีความหนาแน่นสูง เหมาะกับการใช้ลูกลอยที่มีขนาดเล็ก

ส่วนประกอบของลูกลอย 

โครงสร้างของ ลูกลอย
  • ลูกลอย (Float) คือ  ทุ่นที่ใช้สัมผัสกับน้ำหรือของเหลวโดยตรง
  • สวิตซ์หน้าคอนแทค (Contact Switch) ทำหน้าที่เป็นสะพานไฟ เพื่อให้วงจรไฟฟ้าทำงานครบวงจร มีทั้งแบบบรรจุอยู่ในตัวลูกลอยและติดตั้งภายในก้านระบบ สามารถแบ่งสวิตซ์ที่ใช้ในตัวลูกลอยได้ 2 ประเภท คือ

1) Micro Switch ทำงานโดยอาศัยแรงกด (กลไก) มีหน้าคอนแทคเป็น NO+NC ทนกระแส และแรงดันได้ 10A, 250VAC

2) Lead Switch ทำงานโดยสนามแม่เหล็ก (แม่เหล็ก) มีหน้าคอนแทคเป็น NO ทนกระแสและแรงดันได้ 5A, 300VAC

  • สายไฟฟ้า (Electrical Cable / Lead Wire) ส่วนที่เชื่อมต่อกับวงจรไฟฟ้าภายนอก และวงจรของสวิตซ์หน้าคอนแทค (Contact Switch) ตัววัสดุที่ใช้ผลิตจะต้องทนต่อสภาพแวดล้อมในการติดตั้ง ส่วนใหญ่จะเป็น PVC และ Neopren ส่วนขนาดและความยาว ต้องเลือกให้เหมาะสมกับกระแสและแรงดัน
  • ตัวถ่วงน้ำหนัก หรือ ตุ้มถ่วงน้ำหนัก (Counter Weight) จำเป็นต้องใช้ในกรณีที่ติดตั้งลูกลอยแบบถ่วงลงในน้ำ เพื่อที่จะทำให้ลูกลอยจมลง แต่สำหรับลูกลอยที่มีการติดตั้งแบบแนวตั้งหรือแนวนอนที่มีแกน หรือ Stem เป็นตัวประคองอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้

ารทำงานของลูกลอยในแทงค์น้ำ

ลูกลอย ในแทงค์น้ำ

ลูกลอย เป็นอุปกรณ์สำคัญในการวัดและควบคุมการทำงานของแทงค์น้ำ มีโครงสร้างและหลักการการทำงานที่ง่าย สามารถทนต่ออุณหภูมิและความดันได้ดี ทั้งยังมีความเที่ยงตรงสูง ผู้คนจึงนิยมซื้อและติดตั้งในแทงค์น้ำกันเป็นจำนวนมาก โดยหลักการทำงานของลูกลอยนั้น จะแบ่งตามชนิดของลูกลอย คือ

  1. ลูกลอยทั่วไป หรือ ลูกลอยแบบใช้แรงดันน้ำ

เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้เราไม่ต้องเปิด-ปิดวาล์วน้ำเอง หลักการทำงาน คือ เมื่อน้ำลดลง ขาของลูกลอยจะดันลูกเลื่อนให้วาล์วน้ำเปิด ทำให้น้ำไหลออกมา เมื่อน้ำเต็มหรือถึงระดับที่สูงสุดแล้ว ขาของลูกลอยจะดันลูกเลื่อนให้วาล์วปิดนั่นเอง เมื่อนำมาใช้งาน แนะนำให้เปลี่ยนลูกลอยชนิดนี้ทุก 2 ปี ถึงแม้จะใช้ได้อยู่ก็ตาม เพื่อป้องกันการเกิดน้ำล้นแทงก์ในขณะที่เราไม่อยู่บ้าน ข้อดีของลูกลอยชนิดนี้ คือ มีราคาถูก และติดตั้งง่าย แต่ฟังก์ชันจะน้อยกว่าแบบถัดไป

  1. ลูกลอยไฟฟ้า

หลักการใช้ลูกลอยไฟฟ้า คือ ควบคุมระดับน้ำ ไม่ให้น้ำหมดถัง และ ไม่ให้น้ำล้นถัง รวมถึงควบคุมปั๊มน้ำไม่ให้ทำงานในขณะที่ไม่มีน้ำ เพื่อป้องกันปั๊มน้ำเสียหาย โดยการทำงานสวิตซ์ของลูกลอยจะสั่งให้ปั๊มน้ำทำงาน เมื่อระดับน้ำในแทงค์ลดลงถึงจุดที่กำหนดไว้ และตัดวงจรการทำงานของปั๊ม เมื่อระดับน้ำเพิ่มสูงถึงจุดหนึ่งที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันน้ำล้น แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

  • สวิตซ์ลอยเหนือน้ำ

สวิตซ์ชนิดนี้จะอยู่ด้านบนของแทงค์น้ำ เมื่อลูกลอยลอยขึ้นหรือตกลงตามระดับน้ำที่กำหนดไว้ สวิตซ์จะควบคุมการทำงานของปั๊มให้เปิดและปิดน้ำทันที (ใช้หลักการลูกตุ้มถ่วงผูกกับเชือก)

  • สวิตซ์แบบแช่น้ำ

สวิตซ์ชนิดนี้ สามารถจุ่มหรือแช่อยู่ภายในแทงค์น้ำได้เลย หลักการทำงาน คือ เมื่อลูกลอยลอยถึงระดับที่กำหนดไว้ ลูกบอยจะกลิ้งไปกระแทกหรือกระทบให้สวิตซ์เปิด-ปิดปั๊มน้ำ ตามระดับน้ำที่เปลี่ยนไปนั่นเอง

วิธีเลือก ลูกลอย ให้เหมาะกับแทงค์น้ำ

  • วัสดุ ลูกลอยเป็นอุปกรณ์ที่ต้องทำงานร่วมกับน้ำอยู่เสมอ ดังนั้น เราควรเลือกลูกลอยที่ผลิตมาจากพลาสติก สเตนเลส หรือวัสดุที่ทนต่อน้ำ เพื่อป้องกันการเกิดสนิมเมื่อใช้งานเป็นเวลานาน หากลูกลอยเกิดสนิม จะส่งผลให้ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงส่งผลต่อคุณภาพของน้ำในแทงก์ด้วย
  • ขนาดและน้ำหนัก การเลือกขนาดและน้ำหนักของลูกลอย มีความสำคัญมาก เพราะขนาดแทงก์น้ำของแต่ละครัวเรือนไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น ก่อนการซื้อ อย่าลืมคำนึงถึงขนาดแทงก์ที่ใช้บรรจุ และความดันของน้ำด้วย
  • เปิด-ปิดน้ำได้ หน้าที่หลักของลูกลอย คือ ทำหน้าที่วัดระดับน้ำ และเป็นวาล์วเปิด-ปิดน้ำอัตโนมัติในแทงก์น้ำ ดังนั้น ก่อนซื้อต้องเช็กให้ดีก่อนว่า ลูกลอย สามารถใช้งานได้ตามปกติหรือไม่
  • อุปกรณ์ติดตั้งครบชุด ปัจจุบันมีการผลิตลูกลอยออกมาหลายชนิด การติดตั้งลูกลอยจึงมีความซับซ้อนมากขึ้น หากเป็นลูกลอยไฟฟ้า ต้องมีการเชื่อมต่อกับสวิตซ์ สายไฟ ตุ้มถ่วงน้ำหนัก และอื่น ๆ การจะติดตั้งให้สมบูรณ์ ต้องมีอุปกรณ์ที่ครบชุด หากขาดชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งไป จะส่งผลให้ลูกลอยทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ถ้าฝืนติดตั้งแบบอุปกรณ์ไม่ครบ หรือไม่มีความรู้ อาจทำให้อุปกรณ์เกิดความเสียหาย รวมถึงอาจเกิดอุบัติเหตุต่อผู้ติดตั้งและผู้ใช้งานอีกด้วย

เป็นอย่างไรบ้างกับบทความ ลูกลอย หวังว่าทุกคนจะได้รู้จักอุปกรณ์ชนิดนี้เพิ่มมากขึ้น และอย่าลืมนำวิธีเลือกลูกลอยไปปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวัดระดับและควบคุมน้ำด้วยนะคะ เพราะถ้าหากเราเลือกไม่ถูกต้อง อาจจะส่งผลต่อค่าน้ำ ค่าไฟ ภายในบ้านของเรา ทำให้เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น และถ้าหากใครอยากรู้จักกับถังน้ำเพิ่มเติม ก็สามารถตามไปอ่านได้ที่ลิงก์ข้างล่างได้เลย รับรองว่าอัดแน่นไปด้วยสาระความรู้มากมาย

ขอบคุณข้อมูลจาก : YongHong