“กระจกบ้าน” เลือกอย่างไร? ไม่ให้บ้านร้อน

สภาพอากาศร้อน กลายเป็นสิ่งที่คู่บ้านคู่เมืองของเราไปแล้ว การป้องกันความร้อนเข้าตัวบ้าน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม หลาย ๆ คนให้ความสนใจกับการกันความร้อนที่หลังคา แต่อาจมองข้ามการกันความร้อนจากช่องประตู หน้าต่าง ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญ ที่ความร้อน จะเข้าสู่ตัวบ้านโดยตรง ตาม KACHA ไปดู การเลือก กระจกบ้าน ที่ดี จะช่วยป้องกันความร้อนจากสภาพอากาศ และจากแสงแดดได้

เลือกกระจกบ้าน อย่างไร? ช่วยลดบ้านร้อนได้

เลือกกระจกบ้าน ติดฟิล์ม กระจกบ้าน เป็นวัสดุที่นิยมใช้สำหรับประตู หน้าต่าง ซึ่งมีตัวเลือกอยู่ประมาณ 5 ชนิด โดยกระจกชนิดต่าง ๆ และฟิล์มนั้น มีความแตกต่างทั้งคุณสมบัติ การติดตั้ง และราคา ควรเลือกใช้วัสดุที่เหมาะกับการใช้งาน และงบประมาณ ได้ดังนี้

1. กระจกสี (Tinted Glass)

กระจกสีตัดแสง ถือเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในอดีต ที่แทบทุกบ้าน จะติดตั้งกระจกสีชาเข้ม หลักการช่วยลดความร้อนของกระจกสีตัดแสง มาจากความเข้มของสีกระจก กระจกยิ่งมีสีเข้มเท่าไร ก็ช่วยตัดความจ้าของแสงแดด สีที่เข้ม ช่วยลดความร้อนได้ประมาณหนึ่ง แต่ไม่สามารถตัดคลื่นรังสีความร้อนได้ หากต้องการลดความร้อนให้ได้ดี จะต้องใช้กระจกสีเข้มมาก ๆ ซึ่งมีทำให้แสงส่องผ่านได้น้อย ทำให้ภายในบ้านดูมืด แถมกระจกยิ่งมีสีเข้ม ก็จะยิ่งสะสมความร้อน กระจกประเภทนี้ มีราคาสูงกว่ากระจกใส ประมาณ 10%

220712-Content-เคล็บลับ-กระจกบ้านเลือกอย่างไร-ไม่ให้บ้านร้อน02

2. กระจกเขียวตัดแสง (Heat Absorbing Glass)

เป็นการพัฒนากระจก ให้กันความร้อน โดยเติมออกไซด์โลหะประเภทเหล็ก โคบอลต์ หรือซีลีเนียม ที่มีคุณสมบัติกักคลื่นความร้อน หรือคลื่นแสงอินฟาเรดไว้ไม่ให้เข้าสู่ภายในบ้าน ซึ่งสารในกระจกนั้น ทำให้เนื้อกระจกมีสีเขียว แต่ยังดูโปร่งใสกว่ากระจกสีแบบเดิม กระจกเขียวตัดแสง ช่วยป้องกันความร้อนได้มากถึง 50% และมีราคาสูงกว่ากระจกใสราว 20% จึงเป็นกระจกที่ได้รับความนิยม

ข้อด้อยของกระจกประเภทนี้ คือ สารโลหะ ในเนื้อกระจก จะสะสมความร้อน ในบางกรณีพบว่า กระจกสะสมความร้อนไว้มากจนแตกร้าวเอง ทำให้บ่อยครั้ง เราจะเห็นกระจกชนิดนี้ นำทำเป็นกระจกเทมเปอร์ เพื่อป้องกันการแตกนั้นเอง

3. กระจกสะท้อนแสง (Reflective Glass)

กระจกประเภทนี้ มีคุณสมบัติกันความร้อน โดยการสะท้อนแสงออกไป โดยเป็นการเคลือบสารสะท้อนแสง บนผิวกระจก ซึ่งช่วยสะท้อนแสงออกไป จึงช่วยกันความร้อนเข้าสู่ภายในบ้านได้ดี

  • ข้อดี ในช่วงกลางวัน จะช่วยสร้างความเป็นส่วนตัว เพราะตอนกลางวัน จะมองเห็นภาพสะท้อนของภายนอก แต่ในยามกลางคืน ภายในนั้นสว่างกว่าภายนอก จะกลายเป็นว่าสามารถมองเห็นภายในได้ในขณะที่ภายใน จะเห็นเงาสะท้อน ดังนั้น เราจึงเห็นกระจกชนิดนี้ใช้กับอาคารสำนักงาน เพราะมีราคาสูงกว่ากระจกใส 1.5 เท่า แต่ช่วยสะท้อนความร้อนได้มากถึง 60% และยังสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยให้กับตัวอาคาร
  • ข้อเสีย การสะท้อนแสงออก ดังนั้น แน่นอนว่าแสง จะส่องผ่านได้น้อยลง ภายในจึงจะมืด และอาจต้องติดตั้งแสงภายในช่วยส่องสว่าง นอกจากนี้ แสงที่สะท้อนเสมือนกระจกเงานั้น อาจเป็นการรบกวนพื้นที่โดยรอบอาคาร
220712-Content-เคล็บลับ-กระจกบ้านเลือกอย่างไร-ไม่ให้บ้านร้อน03

4. กระจกโลว์อี (Low Emission Glass)

กระจก Low-E (Low Emission) เป็นกระจกที่มีการถ่ายเทความร้อนต่ำ เพราะผิวกระจก มีการเคลือบสารโลหะเงิน (Ag) มีคุณสมบัติดีกว่าสารออกไซด์โลหะประเภทเหล็ก โคบอลต์ หรือซีลีเนียมในกระจกเขียวตัดแสงที่จะสะสมความร้อน ซึ่งสารนี้ มีคุณสมบัติสะท้อนคลื่นพลังงานความร้อน แต่ยังมีความใส ให้แสงสว่างส่องผ่านได้ดี สารโลหะเงิน นอกจากสะท้อนความร้อนแล้ว ช่วยให้กระจกยังมีค่าการถ่ายเทความร้อนที่ต่ำเพียง 2-30% เท่านั้น ขึ้นอยู่กับระดับการเคลือบสารโลหะเงิน อย่างไรก็ตาม สารโลหะเงินที่เคลือบนั้น จะทำปฏิกิริยากับสภาพอากาศ และเปลี่ยนสภาพเป็นคราบสีดำ

ดังนั้น กระจกโลว์อี จึงมักเป็นกระจกเทปเปอร์ ที่สารเคลือบถูกปกป้องไว้ภายใน ระหว่างกระจก 2 แผ่น หรือเป็นกระจกแผ่นหนึ่ง ในระบบของกระจกฉนวน 2 ชั้น กระจกโลว์อี มีราคาสูงกว่ากระจกใสธรรมดา ประมาณ 2.5-3 เท่า

อ่านบทความ : กระจกเทมเปอร์ หรือ กระจกนิรภัย มีคุณสมบัติอย่างไร?

220712-Content-เคล็บลับ-กระจกบ้านเลือกอย่างไร-ไม่ให้บ้านร้อน04

5. กระจกฉนวน 2 ชั้น (Double Insulated glass)

กระจกฉนวน 2 ชั้น เป็นการนำกระจก 2 แผ่น มาประกอบเป็นชุดกระจก ที่มีตั้งแต่ 2 แผ่นชั้นขึ้นไป ซึ่งบางครั้ง ยังมีการนำกระจกโลว์อี มาใช้เป็นหนึ่งในแผ่นกระจกอีกด้วย ระหว่างกระจกแต่ละชิ้น จะเว้นช่องว่าง และซีลปิดสนิทรอบด้าน ภายในช่องบรรจุอากาศแห้ง ก๊าซอาร์กอน หรือก๊าซคริปทอน ที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อน ได้มากถึง 90% และยังช่วยไม่ให้เกิดฝ้า หรือหยดน้ำบนผิวกระจก ที่มักเกิดขึ้นกรณีที่อุณหภูมิด้านนอก และด้านในแตกต่างกัน

ดังนั้น กระจกชนิดนี้ ต้องใช้ร่วมกับชุดกรอบบานเฉพาะ ซึ่งจะติดตั้งสำเร็จมาจากโรงงาน ไม่สามารถแก้ไขขนาดกรอบบานหน้างานได้ กระจกฉนวน 2 ชั้น ถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยป้องกันความร้อน ป้องกันเสียง และช่วยลดการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศได้ดีมาก จึงมีราคาสูง และขึ้นอยู่กับขนาดบาน ประเภทของก๊าซภายใน และชนิดของกระจกที่ใช้ด้วย

วิธีป้องกันความร้อน จากกระจกบ้าน

หลาย ๆ คน อาจจะชอบบ้านที่มีกระจกเยอะ ๆ เพราะดูโปร่ง ดูสะอาด สว่างตา แต่ความร้อนก็เข้ามาได้ง่ายเช่นกัน วิธีป้องกันความร้อน ที่ช่วยให้บ้านเย็นขึ้น และประหยัดพลังงานไปในตัว มีดังนี้

ลดความร้อนจากแสงแดด

การลดความร้อนด้วยการป้องกันผนังบ้าน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นกระจก ไม่ให้ถูกแสงแดด ทำได้ดังนี้

  • สร้างร่มเงาให้ผนังอาคาร ด้วยการทำชายคา ยื่นไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร ทำกันสาดเหนือช่องเปิด ทำแผงระแนงบังแดด หรือลดระยะผนัง ที่ติดกระจกเข้าไปในอาคาร ทำให้เกิดเงา และช่วยป้องกันความร้อนจากแสงแดด ไม่ให้เข้าบ้านโดยตรง
  • เลือกใช้กระจกให้ถูกที่ ด้านทิศเหนือ และตะวันออก จะมีแสงแดดไม่แรงนัก สามารถทำผนังกระจกกว้าง ๆ ได้ ส่วนผนังด้านทิศตะวันตก และทิศใต้ ซึ่งมีแสงแดดแรง ควรใช้ผนังทึบ ที่กันความร้อนได้ดี สลับกับการทำช่องเปิดกระจก เป็นช่วง ๆ เท่าที่จำเป็น ความร้อน ก็จะไม่เข้ามามากเกินไป
  • ป้องกันการสะท้อนความร้อนจากภายนอก โดยหลีกเลี่ยงการทำพื้นคอนกรีตกว้าง ๆ หรือสระว่ายน้ำ ไว้ใกล้อาคาร โดยไม่มีร่มเงา เพราะความร้อน และแสงแดด จะสะท้อนเข้ามาในบ้านมากขึ้น

ใช้เกราะป้องกันพิเศษ

นอกจากกระจกใส กระจกตัดแสง กระจกลามิเนต เป็นต้น ที่เราคุ้นเคยกันแล้ว ยังมีกระจกที่ออกแบบเป็นพิเศษ ให้เป็นฉนวนกันความร้อน และช่วยประหยัดพลังงานได้ ซึ่งมีหลายชนิด เช่น กระจกฉนวนกันความร้อน, กระจก Heat Stop และกระจก Low-E ซึ่งเป็นกระจก 2 ชั้น ที่มีช่องว่างระหว่างแผ่น แล้วบรรจุก๊าซ หรืออากาศแห้ง เพื่อลดการถ่ายเทความร้อน และลดเสียงรบกวน ที่ส่งผ่านกระจก บางชนิด ยังเคลือบสารที่ผิวกระจก เพื่อช่วยสะท้อนความร้อนออกไป และป้องกันรังสียูวีได้มาก

ข้อดี ทำให้มีแสงธรรมชาติ ส่องเข้ามาได้มาก โดยที่ไม่ร้อน จึงช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า ของเครื่องปรับอากาศ และระบบแสงสว่างได้

ข้อจำกัด ราคาแพงกว่ากระจกธรรมดา 3-4 เท่า จึงต้องลงทุนสูงในครั้งแรก แต่ก็คุ้มค่าในระยะยาว และกระจกมีความหนากว่าปกติ จึงต้องใช้กับประตู หน้าต่าง ที่ใส่กระจกหนา ๆ ได้

การนำไปใช้งาน อาจเลือกใช้กับประตู หน้าต่าง หรือผนังกระจก เฉพาะด้านที่จำเป็นต้องเปิดช่องแสงใหญ่ ๆ ด้านที่มีแสงแดดแรง ด้านที่มีเสียงรบกวนมาก หรือใช้ทำหลังคาสกายไลท์ก็ได้

ข้อควรระวังของบ้านกระจก

  • ก่อนเลือกใช้ กระจกสีชา ควรระวังไว้ เพราะตอนกลางวัน คนข้างนอกจะมองไม่เห็นภายในบ้าน ซึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่พอเปิดไฟในบ้าน ตอนกลางคืน จะทำให้เรามองไม่เห็นข้างนอกบ้าน แต่คนข้างนอกจะเห็นเราชัดแจ๋วเลย
  • ทำผนัง กระจกบ้าน และหน้าต่างกระจก ในที่สูง ๆ และอย่าลืมคิดเผื่อเวลาต้องเช็ดกระจกด้านนอกด้วย ว่าสามารถยื่นมือ หรือต่ออุปกรณ์ไปเช็ดได้หรือไม่ หรือต้องต่อบันได นั่งร้าน หรือจ้างช่างมาเช็ดแทน
  • ระวังแสงแดดสะท้อนกระจกบ้านของเรา ไปรบกวนเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกระจกชนิดสะท้อนแสง ควรหลีกเลี่ยงการใช้กับบ้านพักอาศัย เพราะแม้จะช่วยสะท้อนความร้อนได้ แต่ก็มีการสะท้อนแสงมากเกินไป แล้วยังทำให้บ้านดูเป็นอาคารสำนักงานมากกว่าอีกด้วย

เป็นอย่างไรกันบ้าง กระจกบ้าน เลือกอย่างไร ที่ป้องกันปัญหาบ้านร้อนได้ กระจกบ้านที่เราได้นำมาแชร์กันนี้ สามารถนำไปใช้ในบ้านอยู่อาศัย ซึ่งจะช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับประเภทกระจกที่เลือก งบประมาณที่มี ไม่ว่าจะเป็นกระจกชนิดใด ก็ยังมีประสิทธิภาพดีกว่ากระจกใสธรรมดาอย่างแน่นอน ????

● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● 

KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่างราคาถูก และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!!

เลือกดูสินค้าจาก KACHA คลิกเลย

อ้างอิงข้อมูลจาก homeguru, baanlaesuan