รู้จักกับ Solar Rooftop ข้อดีเป็นอย่างไร ช่วยประหยัดค่าไฟได้จริงหรือ?

เชื่อเลยว่าหลาย ๆ คน ต้องรู้จัก และเคยได้ยินSolar Rooftop กันอย่างแน่นอน เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยดี ๆ ที่หลายคนให้ความสนใจ และหันมาใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานสีเขียวกันมากขึ้น บทความนี้ KACHA จะพาไปรู้จักกับ Solar Rooftop ข้อดีของการติดตั้งเป็นอย่างไร ช่วยประหยัดพลังงานได้แค่ไหน ตามไปดูกันเลย

Solar Rooftopคือ?

เป็นระบบที่สร้างพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนระบบต่าง ๆ ภายในที่อยู่อาศัย อาคาร หรือโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Panels) บนหลังคาของบ้าน เพื่อช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบSolar Rooftop จะเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Current) ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternate Current) โดยเครื่องแปลงไฟ หรือ Inverter จะเชื่อมต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยพลังงานแสงอาทิตย์จากSolar Rooftop จะนำไปขาย หรือใช้แทนไฟฟ้าก็ได้
230505-Content-รู้จักกับ-Solar-Rooftop02

ประเภทของSolar Rooftop

  • Solar Rooftopสำหรับขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้า คือ การติดตั้งSolar Rooftop ประเภทนี้จะติดตั้ง เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งขายให้กับการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยต้องติดตั้งมิเตอร์แยกจากมิเตอร์ที่ใช้วัดค่าไฟฟ้าทั่วไป ทั้งนี้ ราคาของหน่วยวัดค่าไฟ ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐว่า ต้องจ่ายเท่าไหร่ ที่สำคัญผู้ติดตั้งSolar Rooftop สำหรับผลิตพลังงาน และขายให้กับหน่วยงานดังกล่าว จำเป็นต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
  • Solar Rooftopสำหรับใช้เอง คือ การติดตั้งSolar Rooftop เพื่อผลิตพลังงานไว้ใช้เอง เพื่อลดค่าไฟฟ้า โดยระบบจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยขับเคลื่อนการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในที่อยู่อาศัย เมื่อพลังงานแสงอาทิตย์ถูกนำมาใช้จนเกือบหมดแล้ว ระบบจะเปลี่ยนมาเชื่อมต่อ และใช้พลังงานไฟฟ้าแทน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายได้

ระบบSolar Rooftop ที่ใช้งานในปัจจุบันได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. ระบบ On-Grid คือ ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ แล้วแปลงกระแสไฟฟ้าตรง เป็นไฟฟ้ากระแสสลับด้วยเครื่อง Inverter นิยมใช้ผลิตไฟฟ้าสำหรับนำไปขายให้กับการไฟฟ้า จุดเด่น คือ จะใช้พลังงานจากแผงโซลาร์ และการไฟฟ้าพร้อมกัน ทำให้หมดปัญหาเรื่องไฟตก ไฟกระชาก ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ และใช้ได้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด
  2. ระบบ Off-Grid คือ ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ได้ต่างหาก โดยไม่ต้องอาศัยแหล่งกำเนิดไฟฟ้าจากการไฟฟ้า ทำให้ผลิตไฟฟ้าใช้ได้เอง ผู้ติดตั้งSolar Rooftop ประเภทนี้ จะต้องเลือกโหลดอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่จะใช้ให้เหมาะสมกับแรงดันด้วย
  3.  ระบบ Hybrid คือ การรวมเอาการทำงานแบบ On-Grid และ Off-Grid มารวมกัน โดยจะมีระบบแบตเตอรี่สำรองใช้งาน เมื่อไม่มีแสงอาทิตย์ หรือผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอนั่นเอง

การติดตั้งSolar Rooftop

โดยทั่วไป การติดตั้งSolar Rooftop ทำได้กับหลังคา หรือกันสาดแทบทุกแบบ เพราะการถ่ายน้ำหนักของแผงโซลาร์บนหลังคาน้อยมาก ประมาณ 10-12 กิโลกรัม/ตารางเมตร แต่ควรคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบ หรือปรึกษาผู้ติดตั้งโดยตรง เช่น วัสดุหลังคา ขนาด อายุการใช้งาน และน้ำหนักที่รับได้ของประเภทหลังคา หรือกันสาดแต่ละประเภทว่ารับได้เท่าไหร่ อุปกรณ์ ขั้นตอนติดตั้ง มีดังนี้
230505-Content-รู้จักกับ-Solar-Rooftop03

อุปกรณ์สำคัญของการติดตั้งSolar Rooftop

  • แผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Module)
  • โครงรองรับแผง (Mounting Structure)
  • ตู้ไฟฟ้า DC BOX และตู้ไฟ AC (MDB Solar to Main Owner)
  • เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าแบบเชื่อมต่อระบบจำหน่าย (Grid-tie INVERTER)

ขั้นตอนการติดตั้ง

  1. จัดเตรียมอุปกรณ์ และโครงสร้าง สำหรับยึดแผงโซลาร์ โดยเลือกวัสดุที่ทำจากโลหะ กันสนิม รวมทั้งรับน้ำหนัก และทานแรงลมได้
  2. ดูค่าแรงดันไฟฟ้าวงจรเปิด และค่ากระแสไฟฟ้าลัดวงจรของแผงโซลาร์ทุกแผงก่อนติดตั้ง และยึดแผงโซลาร์บนโครงสร้าง
  3. ค่อย ๆ ติดตั้งแผงโซลาร์ตามรายละเอียดในคู่มือ โดยนำหัวต่อต่อเข้ากับแผงโซลาร์
  4. ติดตั้งตู้รวมสายไฟกระแสตรง อินเวอร์เตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ตามคำแนะนำของผู้ผลิต และคู่มือ
  5. นำสายไฟของแผงโซลาร์มาไว้ที่ตู้รวมสายไฟกระแสตรงทีละวงจร จากนั้น นำสายไฟไปเชื่อมกับแผงโซลาร์ เพื่อเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า และระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์
  6. นำสายไฟที่เชื่อมไว้ตรงตู้รวมสายไฟกระแสตรง มาเชื่อมต่อกับอินเวอร์เตอร์
  7. นำสายไฟที่เชื่อมต่ออินเวอร์เตอร์ มาที่เบรกเกอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ จากนั้น ไล่ปิดวงจรระบบทีละชุดจนครบทุกเบรกกอร์
  8. ตรวจสอบระบบและค่าต่าง ๆ ให้เป็นไปตามคู่มือ เป็นอันเสร็จ

Solar Rooftopช่วยประหยัดไฟได้จริงหรือ?

ขนาดของแผงโซลาร์ 120 X 60 เซนติเมตร จะมีพื้นที่ 0.72 ตารางเมตร และมีกำลังการผลิตแผงละ 102 วัตต์จะต้องใช้แผงทั้งสิ้นประมาณ 10 แผง ดังนั้น ทุก ๆ 1 กิโลวัตต์ของแผงโซลาร์ จะกินพื้นที่บนหลังคาเท่ากับ 7.2 ตารางเมตร
ซึ่งโดยทั่วไปแผงโซลาร์เซลล์จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีที่สุด คือ ช่วง 10.00-15.00 น. เท่ากับว่าช่วงเวลานั้น บ้านที่ติดSolar Rooftop จะได้ใช้ไฟฟรีทันที โดยตรงผ่าน Inverter ตัวอย่างเช่น
  • แผงขนาด 3 กิโลวัตต์ จะผลิตไฟฟ้าได้ 4,380 หน่วย/ปี ใช้พื้นที่ติดตั้งประมาณ 20-25 ตารางเมตร ใช้ได้กับ หลอดไฟ 14 วัตต์ 10 ดวง, โทรทัศน์ LED ขนาด 42 นิ้ว 3 เครื่อง, ตู้เย็น 15 คิว 2 เครื่อง, แอร์ 12,000 BTU 2 เครื่อง ช่วยประหยัดไฟได้ถึง 945,295 บาท ใน 25 ปี
  • แผงขนาด 5 กิโลวัตต์ จะผลิตไฟฟ้าได้ 7,300 หน่วย/ปี ใช้พื้นที่ติดตั้งประมาณ 35-40 ตารางเมตร ใช้ได้กับ หลอดไฟ 14 วัตต์ 20 ดวง, โทรทัศน์ LED ขนาด 42 นิ้ว 5 เครื่อง, ตู้เย็น 15 คิว 3 เครื่อง, แอร์ 12,000 BTU 4 เครื่อง ช่วยประหยัดไฟได้ถึง 1,575,491 บาท ใน 25 ปี
  • แผงขนาด 10 กิโลวัตต์ จะผลิตไฟฟ้าได้ 14,600 หน่วย/ปี ใช้พื้นที่ติดตั้งประมาณ 70-80 ตารางเมตร ใช้ได้กับ หลอดไฟ 14 วัตต์ 40 ดวง, โทรทัศน์ LED ขนาด 42 นิ้ว 6 เครื่อง, ตู้เย็น 15 คิว 3 เครื่อง, แอร์ 12,000 BTU 6 เครื่อง ช่วยประหยัดไฟได้ถึง 3,150,982 บาท ใน 25 ปี
อ้างอิงข้อมูลจาก บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์
230505-Content-รู้จักกับ-Solar-Rooftop04

ข้อดีของSolar Rooftop

  • ลดค่าใช้จ่าย สำหรับนำไปใช้แทนไฟฟ้าได้มากกว่าเดิม
  • ช่วยส่งเสริมเรื่องพลังงานสะอาด และการนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างยั่งยืน
  • ลดการก่อมลพิษ ลดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้
  • ช่วยลดความร้อน ลดอุณหภูมิ ได้ประมาณ 10 องศาเซลเซียส
  • กระตุ้นการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

จบไปแล้วกับSolar Rooftop ข้อดี วิธีการติดตั้ง เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกให้กับหลาย ๆ บ้าน ที่กำลังสนใจอยากติดตั้ง เพราะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้จริง แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนติดตั้งด้วยทุกครั้ง เพื่อการใช้งานที่ยาวนาน และคุ้มค่านั่นเอง

บทความดี ๆ น่าสนใจ:

KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่างราคาถูก และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!! เลือกดูสินค้าจาก KACHA คลิกเลย ????????