กระดาษทิชชู มีกี่ประเภท เลือกใช้งานอย่างไรให้เหมาะสม?

กระดาษทิชชู ของใช้อเนกประสงค์ที่ใช้งานได้อย่างหลากหลายทั้ง เช็ด ซับ ห่อ และทำความสะอาดสิ่งสกปรก

นอกจากจะหยิบใช้ง่ายแล้ว ยังสะอาด ปลอดภัย แถมราคาไม่แพงอีกต่างหาก

วันนี้ KACHA จะพาไปทำความรู้จักกับ ทิชชู่ ว่าแต่ละประเภทเหมาะกับการใช้งานยังไง ตามไปดูกันเลย!

รู้จักกับ กระดาษทิชชู

กระดาษทิชชู ผลิตจากอะไร

ทิชชู่ ทำมาจากอะไร?

              กระดาษทิชชู ผลิตจากเยื่อกระดาษที่ได้จากต้นไม้ มีทั้งเยื่อบริสุทธิ์และเนื้อเยื่อเวียนใหม่ บางชนิดก็ได้จากการผสมกัน แต่ละแบบมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ดังนี้

  1. เนื้อกระดาษเยื่อบริสุทธิ์ (Virgin Pulp 100%) เป็นกระดาษทิชชูที่มีคุณสมบัติดีที่สุด ราคาก็แพงที่สุดเช่นกัน เนื้อกระดาษจะมีสีขาวสว่าง มีความนวลเล็กน้อย ให้สัมผัสนุ่มลื่น เหนียว และซึมซับได้ดี
  2. เนื้อกระดาษเยื่อผสม (Mixed Pulp) ผสมกันระหว่างเนื้อเยื่อบริสุทธิ์กับเนื้อเยื่อเวียนใหม่ คุณภาพของเนื้อกระดาษจะอยู่ระดับกลาง ๆ ส่วนใหญ่แล้วอัตราการผสมจะอยู่ที 80:20 ซึ่ง 80% นั้นเป็นเยื่อเวียนใหม่ ส่วนอีก 20% เป็นเยื่อบริสุทธิ์ กระดาษจะออกเป็นสีขาวหม่น เนื้อกระดาษจะเป็นจุดเล็กน้อยจากการปนเปื้อนของหมึกพิมพ์ ส่วนเนื้อสัมผัสจะคล้ายแบบแรก แต่ซึมซับได้น้อยและยุ่ยง่ายกว่า นิยมใช้ในห้างสรรพสินค้า สำนักงาน หรือโรงงานที่มีคนใช้งานเป็นจำนวนมาก
  3. เนื้อกระดาษเยื่อเวียนใหม่ (Recycle 100%) หรือเนื่อเยื่อจากกระดาษรีไซเคิล ถือเป็น ทิชชู่ ที่เกรดต่ำที่สุด เนื้อจะมีความหยาบและซึมซับได้น้อยกว่าแบบอื่น แต่ย่อยสลายง่ายที่สุด สามารถทิ้งลงในชักโครก ไม่ทำให้อุดตัน

สาระน่ารู้ : ปัจจุบันมีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลายบริษัทจึงหันมาผลิตทิชชูด้วยการใช้เยื่อเวียนใหม่แทนการใช้เนื้อเยื่อบริสุทธิ์ เพราะมีตัวเลขเปรียบเทียบชัดเจนว่า การผลิตกระดาษ จำนวน 1 ตัน จากเยื่อรีไซเคิล 100%  ช่วยลดการโค่นต้นไม้ได้ถึง 17 ต้น ใช้น้ำน้อยลง 26,500 ลิตร และน้ำมันน้อยลง 378 ลิตร

ประเภทของ กระดาษทิชชู

1) กระดาษชำระ (Bathroom tissue)

กระดาษชำระ หรือ กระดาษเช็ดก้น ผลิตจากเยื่อบริสุทธิ์ที่ได้จากต้นไม้ และเยื่อเวียนใหม่จากกระดาษรีไซเคิล โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นม้วนกลม ความหนา 2 ชั้นขึ้นไป มีทั้งแบบมีลวดลาย สี และขาวสะอาด ขนาดแตกต่างกันตามการผลิต นิยมติดตั้งใช้งานร่วมกับที่แขวนกระดาษทิชชูในห้องน้ำ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการดึงใช้งาน กระดาษชำระมีหน้าที่หลัก คือ ชำระการขับถ่าย คุณสมบัติจึงต้องนุ่มพอสมควร และที่สำคัญต้องย่อยสลายน้ำได้ดี ไม่ทำให้ท่ออุดตัน หากทิ้งลงไปในโถส้วมหรือชักโครก

กระดาษชำระมี 2 ประเภท คือ

  • กระดาษชำระม้วนใหญ่ นิยมติดตั้งในห้างสรรพสินค้า สำนักงาน และองค์กรต่าง ๆ ที่มีคนใช้ห้องน้ำร่วมกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีราคาถูก ซึ่งลักษณะของกระดาษประเภทนี้ จะมีความบางเป็นพิเศษ ซึมซับได้น้อย เน้นไปที่ปริมาณในการทำความสะอาดมากกว่า
  • กระดาษชำระม้วนเล็ก เนื้อสัมผัสกระดาษมีความหลากหลาย มีทั้งกระดาษเยื่อบริสุทธิ์และกระดาษหมุนเวียนใหม่ นิยมใช้ในบ้าน และ ร้านอาหารขนาดเล็ก ซึ่งประเทศไทยมีการประยุกต์กระดาษประเภทนี้ด้วยการวางบนโต๊ะอาหาร

คุณสมบัติ : เนื้อนุ่มพอประมาณ บาง และย่อยสลายในน้ำได้ดี

2) กระดาษเช็ดหน้า (Facial tissue)

กระดาษเช็ดหน้า

ใช้สำหรับทำความสะอาดผิวหน้าโดยเฉพาะ เช่น เช็ดคราบเหงื่อ เช็ดเครื่องสำอาง ซับความมันบน หรือเช็ดสิ่งสกปรกบนใบหน้า คุณสมบัติที่สำคัญ คือ ต้องมีความต้องสะอาด เนื้อเหนียว นุ่ม อ่อนโยน ไม่ระคายเคืองผิว (ค่า pH ประมาณ 5.5 – 8.5) และไม่มีสารเคมีหรือสารอันตรายเจือปน ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นแผ่น บรรจุอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีจำนวนแผ่นมากน้อยแตกต่างกันออกไป ส่วนมากใน 1 กล่อง บรรจุ 60 , 80 , 180 หรือ 200 แผ่น

คุณสมบัติ: เนื้อนุ่ม สัมผัสเรียบเนียน ปราศจากฝุ่นละออง ไม่มีสารเคมี ไม่ยุ่ยง่ายเมื่อเปียกน้ำ

3) กระดาษเช็ดปาก (Napkin)

กระดาษทิชชูประเภทนี้ มักพบที่ร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือโรงแรม ใช้สำหรับเช็ดทำความสะอาดริมฝีปากระหว่างรับประทานอาหาร คุณสมบัติของเนื้อกระดาษจึงต้องมีความอ่อนนุ่ม เหนียว ไม่เปื่อยยุ่ยน้ำง่าย และที่สำคัญคือต้องไม่มีสิ่งเจือปน เพราะว่าสารเคมีเหล่านั้นอาจเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านการเช็ดปากได้ ส่วนใหญ่กระดาษทิชชูประเภทนี้ จะมีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม มีทั้งหนาและบาง บรรจุอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายกับกระดาษเช็ดหน้า แบ่งได้ 3 ประเภท คือ

  • Dinner napkin หรือ กระดาษเช็ดปากสำหรับอาหารเย็น เป็นวัฒนธรรมของฝั่งตะวันตก ที่มีการใช้ผ้ากันเปื้อนรองเวลารับประทานอาหาร ซึ่งสามารถเปลี่ยนมาใช้กระดาษแทนเพื่อความสะดวก กระดาษจึงต้องเนื้อหนา ไม่ยุ่ยง่าย
  • Cocktail napkin ใช้พันรอบแก้ว หรือ นำมาเช็ดปาก
  • Mini napkin กระดาษเช็ดปากขนาดเล็ก โดยทั่วไปมักจะพบในร้านอาหาร ส่วนใหญ่มีสีขาว ชมพู และน้ำตาล ร้านอาหารบางแห่งนำมาตกแต่ง เพื่อประดับบนโต๊ะอาหาร

คุณสมบัติ : เนื้อเหนียว ไม่ยุ่ยง่าย ซึมซับน้ำได้ดี ไม่จำเป็นต้องนุ่มนวลเหมือนกระดาษเช็ดหน้า

4) กระดาษเช็ดมือ (Hand towel)

กระดาษเช็ดมือ

กระดาษทิชชูประเภทนี้พบเห็นได้ทั่วไป ตามห้องน้ำโรงพยาบาล โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และห้องน้ำสาธารณะ ส่วนมากบรรจุไว้ในกล่องที่ติดไว้ตามผนังข้างอ่างล้างมือ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีการบรรจุแบบห่อ หรือกล่องขนาดเล็ก สำหรับพกไว้ใช้ระหว่างวัน คุณสมบัติของกระดาษประเภทนี้ ไม่จำเป็นต้องนุ่มมาก แต่ต้องมีความเหนียว แข็งแรง ไม่เปื่อยยุ่ยง่าย และที่สำคัญ คือ ต้องซับความชื้นได้ดี

คุณสมบัติ : เนื้อหนา เหนียว ไม่ยุ่ยง่าย ซึมซับน้ำได้ดี

5) กระดาษทิชชูอเนกประสงค์ (Kitchen towel) 

กระดาษอเนกประสงค์

กระดาษทิชชูอเนกประสงค์ส่วนใหญ่ผลิตจากเยื่อบริสุทธิ์ 100 % แต่กระบวนการฟอกสีขาวอาจต่างกัน ลักษณะจะเหมือนกับกระดาษชำระ 2 ม้วนต่อกัน มีทั้งสีขาว และ สีน้ำตาล กระดาษชำระชนิดนี้จะมีความแข็ง หนา เหมาะสำหรับใช้งานในห้องครัว หรือทำความสะอาดพื้นที่ต่าง ๆ เช่น เช็ดสิ่งสกปรกบนโต๊ะ ซับน้ำมันจากการทอด ซึ่งการเลือกซื้อก็ต้องเลือกชนิดที่ไม่มีสารปนเปื้อนเท่านั้น เพื่อให้มั่นใจว่าเวลาดูดซับความมันหรือทำความสะอาดอาหาร จะไม่มีสารตกค้างหรือสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

คุณสมบัติ : เนื้อหนา เหนียว ไม่ยุ่ยง่าย ซึมซับน้ำได้ดี

หากใช้กับอาหาร ควรเลือกกระดาษทิชชูจากเยื่อบริสุทธิ์ 100 % และได้รับการรองรับว่าเป็น Food Grade จาก FDA (องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา)

ประโยชน์อื่น ๆ ของกระดาษทิชชู

  1. ช่วยดูดซับกลิ่นไม่พึงประสงค์ในตู้เย็น เพียงวางทิชชูไว้ในช่องแช่แข็ง กลิ่นเหม็นคาวของอาหารในตู้เย็นก็จะลดน้อยลง
  2. รักษาความสดใหม่ให้ผักผลไม้ ใช้ทิชชูห่อผักและผลไม้ก่อนนำเข้าตู้เย็น ทิชชู่จะช่วยซึมซับความชื้นที่เป็นสาเหตุของเน่าเสีย
  3.  ลดคราบเหลืองของรองเท้า ห่อกระดาษทิชชู่ให้ทั่วรองเท้าก่อนนำไปตาก กระดาษทิชชู่จะช่วยซับความชื้นและป้องแสงแดด ช่วยลดคราบเหลืองได้ดี และช่วยให้รองเท้าผ้าใบแห้งเร็วขึ้นด้วย
  4. ป้องกันสนิมเกาะกระทะเหล็ก หลังจากล้างทำความสะอาดกระทะเสร็จเรียบร้อย ให้วางกระดาษทิชชู่ม้วนเล็ก 2 ถึง 3 ม้วน ไว้รอบกระทะ โดยเน้นที่บริเวณขอบกระทะเหล็ก  กระดาษทิชชู่จะช่วยดูดซับความชื้นและน้ำที่ซึมลงในกระทะออกหมด ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดสนิม
  5.  เช็กเมล็ดพันธุ์ เพียงนำกระดาษทิชชู 2 แผ่นไปชุบน้ำพอชื้น แล้วนำเมล็ดพันธุ์มาวางกระจายให้ทั่วแผ่นกระดาษทิชชู จากนั้นก็นำกระดาษทิชชูเปียกน้ำอีก 2 แผ่นมาปิดทับอีกครั้ง แล้วหมั่นรดน้้ำให้ครบ 2 สัปดาห์ หากพบว่าเมล็ดพันธุ์เจริญเติบโต แสดงว่าเมล็ดพันธุ์นั้น ๆ สามารถนำไปเพาะปลูกได้ตามปกติ

จบไปแล้วสำหรับบทความ กระดาษทิชชู หวังว่าทุกคนได้จะความรู้เพิ่มเติม และเลือกใช้ ทิชชู่ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เพราะนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกแล้ว ยังช่วยประหยัดเงิน และทรัพยากรธรรมชาติได้ดีอีกด้วย 

ข้อมูลอ้างอิง : Baanlaesuan, ReamsandRolls, Cleanatic, Pmit

KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่างราคาถูก และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!!